In Focus: จับตาสงครามบานปลาย หลังสหรัฐฯ พลิกเกมไฟเขียวยูเครนใช้ขีปนาวุธถล่มรัสเซีย

ทั่วโลกตื่นตระหนกอีกครั้ง เมื่อยูเครนเปิดฉากยิงขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก (Army Tactical Missile System) หรือ ATACMS ที่ได้รับจากสหรัฐฯ ถล่มรัสเซียเมื่อคืนวานนี้ (19 พ.ย.) หลังจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ไฟเขียวให้ยูเครนใช้อาวุธยุทธศาสตร์นี้โจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียได้ โดยการตัดสินใจครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการพลิกผันนโยบายสหรัฐฯ ครั้งสำคัญ แต่ยังสร้างความกังวลว่าอาจจุดชนวนให้รัสเซียตอบโต้รุนแรงจนสงครามบานปลาย

In Focus สัปดาห์นี้ขอพาทุกท่านไปจับตาสถานการณ์ล่าสุด พร้อมเจาะลึกถึงสาเหตุที่สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงนโยบาย และท่าทีของรัสเซีย รวมถึงความเสี่ยงที่สงครามอาจบานปลาย

 

สหรัฐฯ เปลี่ยนใจ ปลดล็อก ATACMS

สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนครั้งสำคัญด้วยการอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธนำวิถี ATACMS โจมตีเป้าหมายภายในดินแดนรัสเซียได้เป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้จำกัดการใช้เฉพาะในดินแดนยูเครนที่ถูกยึดครองโดยรัสเซีย เช่น การโจมตีฐานทัพอากาศในคาบสมุทรไครเมียและภูมิภาคซาปอริเซีย เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการยกระดับความรุนแรงของสงคราม

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ซับซ้อนขึ้นในสมรภูมิรบยูเครน โดยเฉพาะหลังจากเกาหลีเหนือส่งกำลังทหารกว่า 10,000 นายเข้าร่วมรบเคียงข้างรัสเซียในภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์สงคราม สอดคล้องกับที่แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การเสริมทัพด้วยกำลังทหารจากเกาหลีเหนือเป็นเสมือนการสุมไฟให้สถานการณ์ในยูเครนยิ่งรุนแรงขึ้น

อีกปัจจัยสำคัญคือความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ซึ่งทำให้รัฐบาลของปธน.โจ ไบเดนต้องเร่งสนับสนุนยูเครนก่อนพ้นตำแหน่ง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางทหารให้กับยูเครนก่อนที่จะถูกบีบให้เจรจาสันติภาพ

นอกจากนี้ การตัดสินใจของสหรัฐฯ อาจสร้างแรงกระเพื่อมให้ชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสปรับนโยบายตาม ด้วยการอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธร่อน “สตอร์ม ชาโดว์” (Storm Shadow) เพื่อเข้าโจมตีในรัสเซีย โดยขีปนาวุธนี้มีขีดความสามารถใกล้เคียงกับขีปนาวุธ ATACMS

 

ATACMS: อาวุธเสริมแสนยานุภาพของยูเครน

ขีปนาวุธนำวิถี ATACMS ที่พัฒนาโดยบริษัทล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ถือเป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญที่สหรัฐฯ จัดสรรให้กับยูเครนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำสงคราม โดยสามารถใช้งานร่วมกับระบบยิงจรวด HIMARS ของสหรัฐ และเครื่องยิงจรวด M270 รุ่นเก่า ซึ่งมาจากอังกฤษและเยอรมนี

ขีปนาวุธนี้มีพิสัยการยิงไกลถึง 300 กิโลเมตร พร้อมหัวรบที่บรรจุวัตถุระเบิดน้ำหนักประมาณ 170 กิโลกรัม และถูกออกแบบให้พุ่งทะยานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในระดับสูงกว่าจรวดปืนใหญ่ทั่วไป ก่อนที่จะพุ่งลงสู่เป้าหมายด้วยความเร็วสูง พร้อมด้วยความสามารถในการหลบเลี่ยงระบบป้องกันภัยทางอากาศ จึงยากต่อการสกัดกั้น

แม้ว่าขีปนาวุธ ATACMS จะมีระยะยิงสั้นกว่าขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธข้ามทวีป แต่ระยะดังกล่าวก็เพียงพอที่จะสร้างแรงกดดันและผลกระทบสำคัญต่อรัสเซียในสมรภูมิรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

รัสเซียลั่นพร้อมตอบโต้ ยกร่างหลักการนิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียแสดงความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ โดยมองว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมเตือนว่ามอสโกจะดำเนินมาตรการตอบโต้

วลาดิเมียร์ ซาบารอฟ รองประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศของสภาสูงรัสเซียกล่าวว่า “นี่ถือเป็นก้าวสำคัญมากในการเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สาม” และยืนยันว่ารัสเซียนั้นพร้อมจะตอบโต้ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของลีโอนิด สลุตสกี ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศของสภาล่างที่กล่าวว่า รัสเซียพร้อมตอบสนองด้วยมาตรการที่รุนแรงที่สุด

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินแสดงความกังวลว่า คณะบริหารชุดที่กำลังจะหมดวาระของสหรัฐฯ กำลังดำเนินเกมที่ยั่วยุและสุมไฟให้ความขัดแย้งกับยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความตึงเครียดรอบใหม่ โดยมีสหรัฐฯ เข้ามาพัวพันในความขัดแย้ง

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากยูเครนยิงขีปนาวุธถล่มดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรก ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็ได้ลงนามในกฤษฎีกาอนุมัติหลักการใหม่เกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Doctrine) ซึ่งระบุว่า การรุกรานรัสเซียหรือพันธมิตรของรัสเซียโดยรัฐใด ๆ ที่อยู่ในกลุ่มพันธมิตรทางทหารนั้น จะถือว่าเป็นการรุกรานโดยกลุ่มพันธมิตรทั้งหมดที่เป็นศัตรูของรัสเซีย และการโจมตีที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ ก็จะถือว่าเป็นการรุกรานร่วมกันต่อรัสเซียด้วยเช่นกัน

รัสเซียย้ำว่าอาวุธนิวเคลียร์จะถูกใช้เป็นอาวุธสุดท้ายในกรณีที่สถานการณ์บีบบังคับเท่านั้น พร้อมเน้นย้ำว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อการป้องปรามชาติศัตรูที่มีศักยภาพสูง หรือชาติที่อนุญาตให้มีการใช้ดินแดนและทรัพยากรเพื่อการโจมตีรัสเซีย

 

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในสนามรบ

เจ้าหน้าที่ยูเครนและนักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า ขีปนาวุธที่มีพิสัยการยิงสูงสุด 300 กิโลเมตรนี้ คงจะไม่ทำให้สถานการณ์ในสนามรบเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน เนื่องจากยูเครนมีจำนวนอาวุธนี้จำกัด และรัสเซียได้ย้ายยุทโธปกรณ์สำคัญ เช่น เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินทิ้งระเบิด ไปยังฐานทัพที่อยู่นอกระยะการยิงของขีปนาวุธนี้แล้ว

อย่างไรก็ดี สถาบันวิจัยเพื่อการศึกษาสงครามของสหรัฐฯ กล่าวว่า ยังมีเป้าหมายทางทหารของรัสเซียอีกหลายแห่งที่อยู่ในระยะโจมตีของอาวุธนี้ไม่ว่าจะเป็นฐานทัพทหาร โครงสร้างพื้นฐาน คลังอาวุธ จุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อแนวหน้าของกองทัพยูเครน

นอกจากนี้ การอนุญาตของสหรัฐฯ ให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธ ATACMS จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันรัสเซียโจมตียูเครน หลังมีรายงานว่ากองทัพรัสเซียกำลังเตรียมปฏิบัติการโจมตีครั้งใหญ่ในภูมิภาคเคิร์สก์ โดยคาดว่ามีกำลังพลประมาณ 50,000 นาย ซึ่งรวมถึงทหารจากเกาหลีเหนือ เพื่อยึดคืนดินแดนที่ยูเครนเคยยึดกลับไปได้กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร

ล่าสุด รัฐบาลยูเครนก็ไม่รีรอที่จะเปิดฉากใช้ขีปนาวุธนำวิถี ATACMS โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 19 พ.ย. ยูเครนได้ยิงขีปนาวุธจำนวน 6 ลูกเข้าโจมตีภูมิภาคไบรอันสค์ แต่กองทัพรัสเซียสามารถสกัดกั้นไว้ได้ 5 ลูก และสร้างความเสียหายให้กับขีปนาวุธ 1 ลูก โดยมีเพียงเศษซากของขีปนาวุธที่ตกลงมาเท่านั้นที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บใด ๆ

 

ทีม “ทรัมป์” ไม่พอใจ

แม้ว่าทรัมป์ยังไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว แต่พันธมิตรใกล้ชิดของเขาได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลไบเดนอย่างรุนแรง โดยโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ ลูกชายของทรัมป์โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียว่า “ดูเหมือนกลุ่มอุตสาหกรรมทหารต้องการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สาม ก่อนที่พ่อผมจะมีโอกาสสร้างสันติภาพและช่วยชีวิตผู้คน”

ขณะเดียวกัน มาร์จอรี เทย์เลอร์ กรีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายสนับสนุนทรัมป์ ก็ได้โจมตีนโยบายของรัฐบาลไบเดน โดยกล่าวว่า “ประชาชนอเมริกันได้แสดงจุดยืนแล้วว่าเราไม่ต้องการสนับสนุนสงครามต่างแดนอีกต่อไป เราต้องการแก้ปัญหาในประเทศของเราเอง”

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยหาเสียงโดยให้คำมั่นว่าจะยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนภายใน 24 ชั่วโมงทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง พร้อมประกาศว่าจะยุติการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในสงครามต่างแดน และนำงบประมาณจากภาษีไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกันแทน

แม้ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเขาจะดำเนินการอย่างไรในประเด็นนี้ แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ การตัดสินใจของทรัมป์จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดชะตากรรมของยูเครนในอนาคตอันใกล้

 

ส่องท่าทีนักวิเคราะห์

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า แม้ขีปนาวุธ ATACMS อาจไม่สามารถพลิกเกมสถานการณ์รบได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ยูเครนได้บ้าง ขณะที่บางรายกังวลว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงให้สงครามบานปลายจนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและนาโต และรุนแรงจนถึงขั้นมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์

จอห์น อี. เฮิร์บสต์ ผู้อำนวยการอาวุโสประจำศูนย์ยูเรเชียแห่งสภาแอตแลนติก และอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนมองว่า การใช้ขีปนาวุธ ATACMS ในการโจมตีรัสเซียอาจทำให้ปูตินบรรลุเป้าหมายการยึดคืนพื้นที่รัสเซียได้ยากขึ้น เนื่องจากอาวุธจากชาติตะวันตกจะเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับยูเครน

แมทธิว ซาวิลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาการทหารของสถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส (RUSI) ในกรุงลอนดอนแสดงความเห็นว่า ขีปนาวุธนี้จะช่วยยูเครนในการรักษาพื้นที่ในภูมิภาคเคิร์สก์ที่บุกยึดมาได้ และโจมตีกองกำลังเกาหลีเหนือที่ปฏิบัติการในรัสเซีย

ด้านแอนตัน บาร์บาชิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองรัสเซียระบุว่า แม้รัสเซียประกาศจะตอบโต้ แต่มีทางเลือกจำกัดและไม่น่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ “สิ่งที่คาดเดาได้ และเห็นได้ชัดที่สุดคือ รัสเซียจะเพิ่มการโจมตีเมืองและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนในยูเครนให้มากขึ้น โดยเล็งเป้าไปที่ช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง”

อย่างไรก็ตาม มาร์ก เอพิสโกโพส นักวิจัยด้านยูเรเซียประจำสถาบันควินซีเพื่อการบริหารประเทศอย่างมีความรับผิดชอบในสหรัฐฯ เตือนว่า การใช้อาวุธดังกล่าวอาจไม่สร้างความได้เปรียบใด ๆ ในสนามรบ แต่จะผลักดันให้รัสเซียและนาโตเข้าใกล้การเผชิญหน้ากันโดยตรงมากขึ้น

แต่ที่น่ากังวลนั้น กลุ่มรณรงค์เพื่อการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์หรือ ICAN ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปี 2560 มองว่า มีความเสี่ยงที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของปูตินอาจจะไม่ได้เป็นเพียงแค่คำขู่เท่านั้น โดยระบุว่า “ไม่มีใครรู้ว่าผู้นำประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์จะใช้มันเมื่อไหร่ และการใช้เพียงครั้งเดียวก็อาจลุกลามกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายล้างโลกได้”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top