นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อ GDP ของไทย จากการลดลงของมูลค่าการส่งออก (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงบางส่วน
โดยศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่า จะมีผลกระทบต่อ GDP ไทยลดลง 0.87% คิดเป็นมูลค่ารวมลดลง 160,472 ล้านบาท (แบ่งเป็น 1. ผลกระทบทางตรง การส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลง 108,714 ล้านบาท และ 2. ผลกระทบทางอ้อม การส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ ลดลง 49,105 ล้านบาท และการส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-จีน ลดลง 2,653 ล้านบาท)
สำหรับผลกระทบทางตรง ได้แก่
– ค่าเงินบาท มีแนวโน้มอ่อนค่าหากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เนื่องจากนโยบายกีดกันทางการค้า และการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า
– การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจลดลง 3,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 10 8,714 ล้านบาท) คิดเป็น -1.03% ต่อการส่งออกรวม และ -0.59% ต่อ GDP สินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ยานพาหนะ และยางและผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น
– การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” และการสนับสนุนให้ย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ ทำให้แรงจูงใจในการลงทุนในไทยลดลง
ส่วนผลกระทบทางอ้อม ได้แก่
– การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ การขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 60% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับจีนไปกว่า 1,403 ล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 49,105 ล้านบาท) คิดเป็น -0.46% ของการส่งออกรวม และ -0.27% ของ GDP
– การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-จีน หากจีนมีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีนอาจลดลงอีก 75.8 ล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 2,653 ล้านบาท) คิดเป็น -0.03% ของการส่งออกรวม และ -0.01% ของ GDP
– การทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดไทย นโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ทำให้จีนอาจจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ และสิ่งทอ
นายวิเชียร กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ไทยยังมีโอกาสส่งออกสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ กล่าวคือ ไทยมีโอกาสในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ แทนสินค้าจีน โดยเฉพาะในหมวดเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางและผลิตภัณฑ์ยาง และของเล่น หากไทยสามารถปรับตัว และขยายการผลิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้
นายพูนทวี ชัยวิจิตมลากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยทิศทางการส่งออกของไทยว่า สำหรับไตรมาส 4/67 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มชะลอตัว หรือฟื้นตัวช้าลง โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การส่งออกไตรมาส 4/67 ชะลอตัว ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงของยุโรป และอาเซียน ค่าเงินบาทที่ผันผวน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ
ส่วนปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไตรมาส 4/67 ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในประเทศต่าง ๆ ทำให้หลายประเทศลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภค และการลงทุนของประเทศต่าง ๆ สำหรับสินค้าส่งออกหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไตรมาส 4/67 เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ทองคำ เครื่องจักรกล อาหารและเครื่องดื่ม และอัญมณี ส่วนตลาดหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไทยไตรมาส 4/67 คือ สหรัฐฯ อาเซียน สหภาพยุโรป อินเดีย และออสเตรเลีย
ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า การส่งออกในไตรมาส 4/67 จะขยายตัว 1.20% จากปีก่อน โดยช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 0.12-2.21% มูลค่า 71,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายพูนทวี คาดว่า ภาพรวมการส่งออกไทยทั้งปี 67 จะขยายตัวที่ 3.21% (กรอบ 2.95-3.46%) หรือมีมูลค่า 294,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กรอบ 293,474 – 294,945 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
สำหรับการส่งออกของไทยปี 68 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.8% (กรอบ 2.55-3.03%) หรือคิดเป็นมูลค่า 302,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กรอบ 301,741 – 303,213 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การส่งออกปี 68 เติบโต ได้แก่ เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ขยายตัว อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว การลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ และการบริโภคที่ฟื้นตัวในหลายประเทศ
ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน
ส่วนสินค้าส่งออกหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไทยปี 68 เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่แข็ง และอัญมณี โดยตลาดหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไทยปี 68 คือ สหรัฐฯ อาเซียน ยุโรป อินเดีย และออสเตรเลีย
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเสี่ยงถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ จากเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 9 ซึ่งถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 10% และ 60% กับจีน อาจะทำให้การส่งออกไทยปี 68 จะขยายตัวได้ 1.24% แต่ถ้ากรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 15% และ 60% กับจีน การส่งออกไทยปี 68 จะขยายตัวได้เหลือเพียง 0.72%
- แนะรัฐกระตุ้นศก.ต่อเนื่อง เข็น GDP โตเกิน 3%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงประเด็นเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท ให้ผู้สูงอายุ 60 ปี ช่วงวันตรุษจีน ว่า ตามที่รัฐบาลเตรียมแจกเงินให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 4 ล้านคนนั้น จะเห็นว่ามาตรการที่ออกมานี้ รัฐบาลเริ่มใช้เงินสอดคล้องกับความเห็นที่หลายภาคส่วนแนะนำ คือ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยไม่ได้ใช้เงิน 3 แสนล้านบาทเต็มจำนวน แต่สงวนการใช้งบประมาณแผ่นดิน และเปิดพื้นที่ของการใช้เงิน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น สงครามทางการค้า, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นจึงมองว่าเป็นนโยบายที่ดี
พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยช่วงปลายปีนี้ จะถูกกระตุ้นด้วยภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าบรรยากาศเข้าสู่ปีใหม่หรือไตรมาส 4/67 เศรษฐกิจไทยจะดีกว่าไตรมาส 3/67
ทั้งนี้ ก่อนที่ไทยจะเจอปัจจัยภายนอก เช่น ผลกระทบจากปัญหาสงคราม มองว่า รัฐบาลควรทำให้เศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงก่อน จึงควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นต่อเนื่อง เช่น มาตรการ Easy e-receipt ซึ่งจะสามารถอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 30,000 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปีใหม่ได้
ในส่วนของผลของมาตรการแจกเงินสดผู้สูงอายุนั้น ต้องดูว่าผู้สูงอายุจะใช้เงินมากน้อยเท่าไร โดยคาดว่าเงินจะหมุนในช่วงแรก หรือช่วงตรุษจีนประมาณ 60% ของวงเงิน อย่างน้อย 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะพยุงเศรษฐกิจได้ ประกอบกับมาตรการแก้หนี้ที่จะออกมา คือการพักชำระดอกเบี้ย 3 ปี และมาตรการช่วยภาคเกษตรนั้น โดยรวมแล้วมาตรการทั้งหมดน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
“รัฐบาลควรทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าโตเกิน 3% ให้ได้ เพื่อสร้างโมเมนตัมให้เศรษฐกิจไทยโดดเด่น เพื่อให้คนไทยลืมตาปากได้ทั่วประเทศ และทำให้ประเทศไทยมีเสน่ห์มากขึ้น เนื่องจากประเทศอื่น ๆ เศรษฐกิจโตเกิน 4% หมดแล้ว” นายธนวรรธน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 67)
Tags: GDP, ค่าเงินบาท, ธนวรรธน์ พลวิชัย, พูนทวี ชัยวิจิตมลากูล, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, วิเชียร แก้วสมบัติ, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, ส่งออก, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย