บมจ.สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ (SNPS) ผู้ผลิตและจำหน่ายสารสกัดสมุนไพรมาตรฐานและการรับจ้างพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงาม และสุขอนามัย เคาะราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่หุ้นละ 4.20 บาท คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 441,000,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (par) 1 บาทต่อหุ้น มูลค่าตามราคาบัญชี (Book Value) ณ วันที่ 30 ก.ย.67 ที่ 1.43 บาทต่อหุ้น เปิดให้จองซื้อในช่วงวันที่ 21-25 พ.ย.67 ยคาดว่าจะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ (PERSON) ในวันที่ 29 พ.ย.67 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “SNPS”
บริษัทจะเสนอขายหุ้นจำนวน 105,000,000 หุ้น คิดเป็น 25.93% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO แบ่งเป็น 1. เสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 78,750,000 หุ้น หรือสัดส่วน 75% 2. เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณไม่เกิน 14,950,000 หุ้น คิดเป็น 14.24% 3. เสนอขายต่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท 800,000 หุ้น หรือคิดเป็น 0.76% และ 4. เสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหารและ/หรือพนักงานไม่เกิน 10,500,000 หุ้น หรือคิดเป็น 10.00%
การเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทแต่งตั้ง บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 5 แห่ง ได้แก่ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บล.โกลเบล็ก, บล.คิงส์ฟอร์ด , บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) และ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 4.20 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) เท่ากับ 31.38 เท่า คำนวณจากผลประกอบการของบริษัทในรอบ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66-30 ก.ย.67 กำไรสุทธิเท่ากับ 54.20 ล้านบาทเมื่อหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลัง IPO จำนวน 405 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.13 บาท
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ราคา IPO ถือว่าเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน และสอดคล้องกับสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน SNPS ถือเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจสารสกัดสมุนไพรมาตรฐานในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดย SNPS ให้ความสำคัญอย่างมากในการวิจัยและพัฒนาโดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และความแตกต่าง เมื่อผนวกกับเทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพดีอย่างยั่งยืนโดยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ภาครัฐยังผลักดันและให้การสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรไทยภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติเพื่อช่วยผลักดันให้สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับระดับสากล ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นแรงสนับสนุนให้ SNPS มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด ประกอบด้วย รศ.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ นางสาวธีรญา กฤษฎาพงษ์ และบริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล อินโนเวชั่น จำกัด ยังได้สมัครใจทำข้อตกลงไม่จำหน่ายหุ้นในส่วนที่เหลือจากการติด Silent Period เป็นเวลา 12 เดือน ดังนั้น ในวันที่หุ้น SNPS เข้าซื้อขายเป็นวันแรกจะมีหุ้นที่ซื้อขายในตลาดได้ทั้งสิ้น 105 ล้านหุ้น เท่ากับจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายครั้งนี้
วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน 1. เพิ่มเทคโนโลยีในการสกัดให้ได้สารสกัดสมุนไพรที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้น (โรงงาน SNPS) ราว 80-100 ล้านบาทภายในปี 2569
2. วิจัย พัฒนาและผลิตวัตถุดิบสมุนไพรสำหรับยาพัฒนาจากสมุนไพรผลิตภัณฑ์ยาพัฒนาจากสมุนไพรและอาหารทางการแพทย์หรืออาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ จำนวนเงินลงทุนราว 45-75 ล้านบาทภายในปี 71
3. ชำระคืนเงินกู้ยืมจากกสถาบันการเงินของกลุ่มบริษัทฯ จำนวนเงิน 130 ล้านบาทภายในปี 67
4. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ จำนวนเงิน 120.54-165.54 ล้านบาทภายในปี 68
ธุรกิจของกลุ่ม SNPS แบ่งได้เป็น 2 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสารสกัดสมุนไพรมาตรฐาน เป็นธุรกิจต้นน้ำที่ดำเนินการโดยบริษัทฯ ณ วันที่ 30 ก.ย.67 บริษัทฯมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายทั้งหมด 407 รายการ ประกอบด้วย สารสกัดสำหรับเครื่องสำอางและเวชสำอาง 165 รายการสารสกัดสำหรับอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 110 รายการ สารสกัดสำหรับยา 106 รายการ และวัตถุดิบสำหรับเครื่องสำอางและเวชสำอาง 26 รายการ
2. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ความงาม และสุขอนามัย สามารถแบ่งเป็น 2 ธุรกิจ ได้แก่
2.1 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่รับจ้างพัฒนาและผลิตภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า (Original Design Manufacturer : ODM) มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงามที่ให้บริการครบวงจรตั้งแต่การให้คำปรึกษา ทำการศึกษาวิจัยคิดค้นและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การขึ้นทะเบียนและต่อทะเบียนสินค้ากับ อย.ตลอดจนการผลิตภายใต้การควบคุมการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับสากลรวมถึงการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์สุขอนามัย ที่ SI รับจ้างพัฒนาและผลิตภายใต้ตราสินค้าของลูกค้าสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอาง 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3. กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร และ 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ในปี 263 ถึงงวดเก้าเดือนปี 67 SI มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายทั้งหมด 1,416 รายการ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอาง 864 รายการ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 411 รายการ กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร 130 รายการ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ 11 รายการ
2.2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของกลุ่มบริษัทฯ (Original Brand Manufacturer : OBM) : เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงาม และสุขอนามัยภายใต้ตราสินค้าของ WELL เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดจากการศึกษาวิจัยรวมถึงนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการพิสูจน์โดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยชั้นนำต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับโดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์อันจะนำไปสู่ความเป็นเอกลักษณ์และความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของกลุ่มบริษัทฯ
ผลิตภัณฑ์หลักของ WELL ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูตรครบถ้วนโคลอชัวร์ (Colosure) ภายใต้ตราสินค้า Wellnova ในส่วนของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ความงาม และสุขอนามัยภายใต้ตราสินค้าของ SI เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ SI ตามแนวโน้มของตลาดและความต้องการของผู้บริโภคโดยจะเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นหลัก
ส่วนผลิตภัณฑ์หลักของ SI ได้แก่ ยาแก้คันไนน์เฮิร์บ กรีนบาล์ม ฟอร์ รีลีฟ อิชชิ่ง, ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร มาดามไทเฮิร์บ, สเปรย์สำหรับฉีดหน้ากาก ตรา Specialty และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 66 SI ได้เริ่มผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช ชนิดชงดื่ม ตรา Phytae
กลุ่มบริษัทยังมีนโยบายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของกลุ่มบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และศักยภาพในการแข่งขัน
นางสาวธีรญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SNPS กล่าวว่า กลยุทธ์ในช่วงต่อจากนี้ SNPS จะมุ่งเน้นการเติบโตไปในตลาดใหม่ๆ ที่ต้องการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีศักยภาพในการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และสัตว์เลี้ยง อุตสาหกรรมอาหารจากแนวโน้มของผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญของบริษัท
นอกจากนี้ บริษัทจะยังมุ่งเน้นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จาก IPO ไปลงทุนทั้งในส่วนของสารสกัดที่มีความเข้มข้นและความบริสุทธิ์มากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีการสกัดขั้นสูง Phytoextraction Technology ซึ่งเป็นสารสกัดระดับพรีเมี่ยมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าต่างประเทศ และการการพัฒนาและผลิตยาพัฒนาจากสมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ลดน้ำตาลในเลือด ปรับสมดุลการย่อยอาหาร สร้างภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการคลื่นไส้วิงเวียน เป็นต้น ซึ่งถือเป็น New S-Curve ที่สำคัญในอนาคต
ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกปี 67 บริษัทมีรายได้รวม 351.83 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 24.07% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า โดย SNPS มีกำไรสุทธิจำนวน 51.61 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 14.67%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ย. 67)
Tags: IPO, SNPS, ธีรญา กฤษฎาพงษ์, สมภพ กีระสุนทรพงษ์, สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์, หุ้นไทย