อนุรา กุมาร ดิสสานายาเก ประธานาธิบดีศรีลังกา กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย ส่งผลให้เขามีอำนาจในการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาความยากจนและการทุจริต ขณะที่ประเทศกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (16 พ.ย.) ดิสสานายาเกชนะเลือกตั้งปธน.มาได้อย่างสบาย ๆ ในเดือนก.ย. อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชาชนแห่งชาติ (NPP) ซึ่งเป็นพรรคร่วมแนวคิดมาร์กซิสต์ของเขา มีเพียง 3 ที่นั่งจาก 225 ที่นั่งในรัฐสภาก่อนการเลือกตั้งวันพฤหัสบดี (15 พ.ย.) ทำให้เขาตัดสินใจยุบสภาและขอความไว้วางใจจากประชาชนอีกครั้ง
ผลปรากฏว่า NPP กวาดที่นั่งไปถึง 137 ที่นั่ง คิดเป็นเกือบ 62% หรือ 6.8 ล้านคะแนน ทำให้ได้เสียงข้างมากในรัฐสภา นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งศรีลังกาชี้ว่า NPP และพรรคร่วมมีแนวโน้มที่จะได้เสียงข้างมากถึงสองในสามด้วย
“เรามองว่านี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของศรีลังกา เราคาดหวังว่าจะได้รับอำนาจในการจัดตั้งรัฐสภาที่เข้มแข็ง และมั่นใจว่าประชาชนจะมอบอำนาจนี้แก่เรา” ดิสสานายาเกกล่าวหลังจากลงคะแนนเสียงในวันพฤหัสบดี โดยประธานาธบดีฝ่ายซ้ายผู้นี้ถือเป็นนักการเมืองคนนอก ต่างไปจากนักการเมืองส่วนใหญ่ในศรีลังกาซึ่งถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองของตระกูลต่าง ๆ มาหลายทศวรรษ
“การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองของศรีลังกาที่เริ่มต้นเมื่อเดือนก.ย. จะต้องดำเนินต่อไป” เขากล่าว
พรรคสามัคคีพลังประชาชน (Samagi Jana Balawegaya) ของผู้นำฝ่ายค้านสาชิต เปรมทาส คู่แข่งหลักของดิสสานายาเก ได้เพียง 28 ที่นั่ง คิดเป็นประมาณ 18% ของคะแนนเสียง ขณะที่พรรคแนวร่วมประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งสนับสนุนอดีตปธน.รานิล วิกรมสิงเห ได้เพียง 3 ที่นั่ง
แม้ปธน.จะมีอำนาจบริหาร แต่ดิสสานายาเกยังคงต้องการเสียงข้างมากในรัฐสภาเพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และผลักดันนโยบายสำคัญต่าง ๆ เช่น การลดภาษี สนับสนุนธุรกิจในประเทศ และแก้ไขปัญหาความยากจน เขายังมีแผนยกเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีบริหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานอีกด้วย แต่ต้องอาศัยเสียงข้างมากสองในสามของรัฐสภา
ทั้งนี้ ศรีลังกา ซึ่งมีประชากรถึง 22 ล้านคน เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักในปี 2565 จากปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้ เศรษฐกิจหดตัว 7.3% ในปี 2565 และ 2.3% ในปีที่แล้ว
เศรษฐกิจศรีลังกาเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ด้วยเงินกู้ 2.9 พันล้านดอลลาร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่ค่าครองชีพยังคงสูง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน
ดิสสานายาเกต้องการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางอย่างของ IMF เพื่อควบคุมภาษีเงินได้ และนำเงินไปลงทุนในสวัสดิการสังคมสำหรับประชาชนหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤต
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนกังวลว่าการทบทวนเงื่อนไขเงินกู้อาจทำให้การเบิกจ่ายในอนาคตล่าช้า เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายงบประมาณเกินดุลที่ 2.3% ของ GDP ในปี 2568 ตามที่ IMF กำหนด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 67)
Tags: ประธานาธิบดีศรีลังกา, ศรีลังกา, เลือกตั้ง