ตลาดเครื่องสำอางไทยแนวโน้มสดใส จับตาฝ่าวงล้อมแข่งขันสูง-Fast Beauty

Krungthai COMPASS มีมุมมองว่า มูลค่าตลาดเครื่องสำอางโดยรวมในปี 67-68 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ธุรกิจขายเครื่องสำอางยังมีความเสี่ยงจากการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงจากความล้าสมัยของสินค้า และปัญหา Fast Beauty ชี้ระยะข้างหน้า ผู้บริโภคตระหนักถึงการเลือกใช้เครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Krungthai COMPASS ระบุว่า ในปี 67-68 มูลค่าตลาดเครื่องสำอางโดยรวม มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจนเข้าสู่ระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 17.4%YoY และ 12.9%YoY ตามลำดับ โดยได้รับอานิสงส์จากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้น และการดำเนินชีวิต และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยกลับมา

ทั้งนี้ ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 36.5 และ 40 ล้านคน ในปี 67-68 ส่งผลให้มูลค่าตลาดเครื่องสำอางในประเทศ ที่มีสัดส่วนราว 79% ขยายตัวต่อเนื่องที่ 13%YoY และ 13.3%YoY ตามลำดับ เข้าสู่ระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด สอดคล้องกับมูลค่านำเข้าที่ขยายตัว 19.1%YoY และ 13.3%YoY ตามลำดับ ซึ่งเป็นเครื่องชี้หนึ่งที่สะท้อนถึงความต้องการของตลาดเครื่องสำอางในประเทศ

สำหรับตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนประมาณ 21% มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องจนเข้าสู่ระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด เนื่องจากเครื่องสำอางของไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ อีกทั้งยังคงได้รับผลดีจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามความตกลง FTA กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี และเปรู จึงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น

โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกเครื่องสำอาง จะขยายตัว 34.4%YoY และ 11.7%YoY ตามลำดับ โดยตลาดหลักอย่างอาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงหลักของธุรกิจขายเครื่องสำอาง คือ การแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากตลาดเครื่องสำอางเป็นตลาดใหญ่ มีมูลค่าตลาดสูง การเข้า-ออก ธุรกิจทำได้ง่าย ทำให้มีผู้ประกอบการเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16.9% (ในช่วงปี 62-66)

ส่วนค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า คาดจะส่งผลทั้งบวก และลบต่อธุรกิจ โดยการส่งออกอาจได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคาที่เพิ่มขึ้น แต่จะได้รับผลบวกในแง่ของต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ

นอกจากนี้ ธุรกิจนี้ยังเผชิญกับความเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ ความเสี่ยงจากความล้าสมัยของสินค้า และปัญหา Fast Beauty หรือการเปลี่ยนผ่านความนิยมในระยะเวลาอันสั้น รวมไปถึงการแข่งขันของเครื่องสำอางจีน ที่มีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์โดยผู้ขายในจีน และผู้ผลิตโดยตรง

ขณะที่ในระยะข้างหน้า ผู้บริโภคจะตระหนักถึงการเลือกใช้เครื่องสำอางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องสำอางในกลุ่ม CleanBeauty ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ต้องติดตามความต้องการผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงเลือกผลิตภัณฑ์ที่มาจำหน่ายให้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top