เงินเฟ้อ ต.ค. บวก 0.83% ต่ำกว่าตลาดคาด คงเป้าทั้งปี 0.5% แม้คาด Q4/67 โตสูงสุด 1.12%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ต.ค.67 อยู่ที่ 108.61 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.83% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้ ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าได้มีการปรับสูงขึ้นเนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปีนี้ ขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) สูงขึ้น 0.26%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ต.ค.67 อยู่ที่ 105.26 หรือขยายตัว 0.77% โดยเฉลี่ย 10 เดือน สูงขึ้น 0.52%

สำหรับรายการสินค้าและบริการสำคัญในเดือนก.ย.67 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (ก.ย.66) พบว่ามีสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น 265 รายการ เช่น เนื้อสุกร ไข่สด ผักชี ต้นหอม กะหล่ำปลี กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ขนมหวาน กาแฟสำเร็จรูป ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าโดยสารเครื่องบิน และน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล) ขณะที่มีสินค้าราคาลดลง 114 รายการ เช่น ไก่ย่าง ปลาทู ผักคะน้า แตงกวา มะนาว หัวหอมแดง กระเทียม น้ำมันพืช สบู่ถูตัว แชมพู ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว และน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์) ส่วนสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 51 รายการ

ทั้งนี้ หากเทียบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือน ก.ย.67 กับต่างประเทศพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น 0.61% ซึ่งยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 20 จาก 140 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 9 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว)

คาดเงินเฟ้อทั่วไป Q4/67 สูงสุด 1.12%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย.67 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน ต.ค. โดยปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่ากระแสไฟฟ้าของภาครัฐในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาส 4/67 จะขยายตัวสูงสุด 1.12% แต่ทั้งปียังคงคาดการณ์ที่ 0.2-0.8% โดยมีค่ากลาง 0.5%

“ช่วงสองเดือนสุดท้ายคาดว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1-1.5% เนื่องจากปีก่อนฐานลดลงมาก” นายพูนพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (พ.ย.66 เฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจุบันเฉลี่ยใกล้เคียง 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง ราคาผักสดกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวของอุทกภัยและน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่สิ้นสุดลง และคาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top