โฆษกฯ ยันนโยบายแบงก์ชาติขึ้นกับบอร์ด มั่นใจแทรกแซงยาก

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีแถลงการณ์ของนักวิชาการกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ตลอดจนอดีตผู้ว่าการ ธปท. ที่แสดงความเป็นห่วงต่อการถูกครอบงำ และการแทรกแซงทางการเมือง ในการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. ว่า ถือเป็นการส่งผ่านความห่วงใย และความกังวลไปยังคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ดังนั้นคงต้องรอดูการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก่อน ว่าผลจะออกมาอย่างไร

“กำหนดประชุมวันที่ 4 พ.ย. หลังจากนั้น ต้องรอว่า ที่ตรวจสอบ (คุณสมบัติ) มาจะเป็นอะไร อย่างไรบ้าง ต้องอยู่ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ว่าพร้อมที่จะดำเนินการหรือเปล่า ในแง่ของความห่วงใยที่ออกมา ก็เป็นช่องทางในการส่งผ่านความห่วงใยและความกังวลไปยังคณะกรรมการคัดเลือกมากกว่า คงต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกต่อไป” โฆษก ธปท. กล่าว

พร้อมระบุว่า ตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.นั้น โดยหลักแล้วจะเป็นเรื่องการบริหารงานเป็นส่วนใหญ่ เพราะการตัดสินนโยบาย จะมีคณะกรรมการนโยบายภายใต้กฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นประธานกรรมการ ธปท. จะดูแลในภาพรวมของการบริหารจัดการ และการดำเนินงานทั่วไปของ ธปท.มากกว่า เช่น งบประมาณ การบริหารบุคคล การบริหารจัดการเงินสำรอง เป็นต้น

สำหรับความกังวลว่าประธานกรรมการ ธปท. จะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ ธปท.ในอนาคตได้หรือไม่นั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในแง่กฎหมายและโครงสร้างที่มีอยู่นั้น จะมีการตรวจสอบ ถ่วงดุล รวมทั้งมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ชัดเจนในระดับหนึ่งอยู่แล้ว

“ในแง่กฎหมาย และโครงสร้างที่ทำไว้ มีการเช็ค บาลานซ์ มีกฎเกณฑ์ระบุไว้ชัดเจนระดับหนึ่งอยู่แล้ว อยู่ที่ระยะข้างหน้า ผลการคัดเลือกจะเป็นอย่างไร” โฆษก ธปท.ระบุ

อนึ่ง วันนี้นักวิชาการกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม 227 คน ตลอดจนอดีตผู้ว่าฯ ธปท. เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นางธาริษา วัฒนเกส, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล และนายวิรไท สันติประภพ ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 4 พ.ย.นี้ โดยแสดงความเป็นห่วงว่าจะถูกฝ่ายการเมืองเข้าครอบงำ และแทรกแซงผลการคัดเลือก พร้อมมองว่าหากการครอบงำครั้งนี้ทำได้สำเร็จ มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันนี้ ในการคัดเลือกผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ มีขึ้นในปี 68 ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 67)

Tags: , ,