พาณิชย์ ถกนัดแรกตั้ง 2 อนุกก.ฯ เข้มสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ-ธุรกิจเถื่อน โว! ปิดจ๊อบ 1 เดือน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 1/67 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่า ในการประชุมนัดแรกนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาของแต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบการนำเข้าสินค้า ตั้งแต่ด่านศุลกากร เพื่อป้องกันการนำเข้าที่ด้อยคุณภาพ ไร้มาตรฐาน

โดยที่ประชุมฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด มีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน คือ 1. คณะอนุกรรมการแก้ปัญหา SMEs เพื่อช่วยเหลือเยียวยา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าราคาถูก ไร้มาตรฐาน และส่งเสริมศักยภาพให้ SMEs ไทยสามารถทำธุรกิจแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศได้ และ 2. คณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหานอมินี เพื่อแก้ปัญหาคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยผิดกฎหมาย

“การนำเข้าสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ไร้มาตรฐาน และการทำธุรกิจของต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายไทย เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย และธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมกำลังช่วยกันแก้ปัญหา คาดว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จในไม่เกิน 30 วัน และจะมีการประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งในเดือนธ.ค. ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ TEMU ที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคไทย ล่าสุด ทราบว่ากำลังจะเข้ามาจดทะเบียนธุรกิจในไทยแล้ว” รมว.พาณิชย์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้แทนจากกรมศุลการ กล่าวว่า ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามากขึ้นกว่าเดิมที่เข้มงวดอยู่แล้ว เพื่อสกัดสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ โดยได้สแกนสินค้านำเข้า 100% ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ ตรวจสอบ 30% ส่วนผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้แก้ไขกฎหมายการนำสินค้าติดตัว (ของใช้ส่วนตัว) เข้าไทย ในกลุ่มสินค้านำร่อง คือ ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง จากเดิมให้นำสินค้าติดตัวในปริมาณที่กำหนดสำหรับใช้ภายใน 90 วัน แต่ได้แก้ไข้ใหม่ โดยให้ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากเดิม และในเร็ว ๆ นี้จะขยายไปยังกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ด้านผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67 สมอ. ได้ยกเลิก Exempt 5 (สินค้าที่สมอ.ควบคุม 144 รายการ สามารถนำเข้าได้ไม่ต้องขออนุญาต หากไม่ได้นำเข้ามาเพื่อจำหน่าย และไม่เกินจำนวนที่ สมอ.กำหนด) ทำให้หลังจากนี้ การนำเข้าสินค้าควบคุม 144 รายการ จำเป็นต้องขออนุญาตทุกกรณี ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด หรือนำเข้ามาเพียงไม่กี่ชิ้น

ส่วนผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สินค้าที่ผลิต และนำเข้าเพื่อขายในประเทศ ต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบก่อนวางขาย ยกเว้นสินค้าที่ อย.ดูแล ส่วนสินค้าที่ซื้อผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ และมีผู้ให้บริการขนส่ง ส่งสินค้าถึงผู้บริโภคนั้น จะให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่าตามพิธีการศุลกากร มีผู้ที่เกี่ยวข้องคือใครบ้าง แต่ในอนาคตอาจทำความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม หรือปรับปรุงกฎหมายว่า การนำเสนอขายสินค้าต้องมีรายละเอียดของสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top