MPJ เคาะราคา IPO ที่ 6 บ./หุ้น เปิดจองซื้อ 28-30 ต.ค. เข้าเทรด mai 6 พ.ย.

บมจ.เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ (MPJ) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 53 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้(par) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาเสนอขายหุ้นละ 6.00 บาท ระหว่างวันที่ 28-30 ต.ค.67 โดยบล.โกลเบล็ก เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำแหน่าย บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยมีมูลค่าการเสนอขาย 318 ล้านบาท หุ้น MPJ จะเข้าซื้อขายในตลาด mai หมวดธุรกิจบริการ ในวันที่ 6 พ.ย.นี้

นายคุณกิตติพันธ์ ภูษณวรรณ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บล.โกลเบล็ก ในฐานะผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ กล่าวว่า MPJ เป็นหุ้นโลจิสติกส์น้องใหม่ ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จึงมีการกำหนดราคา IPO ที่ 6 บาท เป็นราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 จนถึง 6 เดือน ของปี 2567 ที่รายได้และกำไรไปในทิศทางบวก ซึ่งสะท้อนถึงพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี

โดยมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ บล.โกลเบล็ก, บล.ฟินันเซีย ไซรัส ,บล. ดาโอ (ประเทศไทย) , บล. กรุงศรี และบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ซึ่งจะเปิดให้นักลงทุนสามารถจองซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 28-30 ตุลาคม และคาดว่าจะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดวันแรก (First Day Trade) ในวันที่ 6 พฤศจิกายน นี้

การกำหนดราคาหุ้น IPO ที่ 6.00 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 10.04 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.60 บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่จำนวน 87.89 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 147 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท (Pre-IPO Dilution)

ทั้งนี้ ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 6.00 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 13.65 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.44 บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่จำนวน 87.89 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท (Post-IPO Dilution) อย่างไรก็ดี อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิดังกล่าวคำนวณจากผลประกอบการในอดีต 4 ไตรมาสย้อนหลัง โดยที่ยังมิได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต

ขณะที่มูลค่าตามราคาบัญชี (book value) เท่ากับ 2.67 บาท/หุ้น (คำนวณจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ตามงบการเงินรวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 เท่ากับ 392.91 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ จำนวน 147 ล้านหุ้น) และเท่ากับ 1.96 บาท/หุ้น (คำนวณจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ตามงบการเงินรวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 เท่ากับ 392.91 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ จำนวน 200 ล้านหุ้น)

สัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด silent period จำนวน 330,060 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.17% ของหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

MPJ ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ 1) บริการด้านการบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์ 2) บริการขนส่งทางบกต่อเนื่องกับท่าเรือ 3) บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) และ 4) บริการให้เช่าคลังสินค้า

บริษัทจะนำเงินไปใช้เพิ่มทุนในบริษัทย่อย MPJWD สำหรับการปรับโครงสร้างทุนของ MPJWD และการชำระเงินกู้ยืมระหว่างกลุ่มบริษัทและเงินกู้ยืมของสถาบันการเงิน 185 ล้านบาท โดยเป็นการชำระเงินกู้ยืมของบริษัท โดยบริษัทจะนำเงินดังกล่าวไปชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงินของบริษัท จำนวน 35 ล้านบาท และชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงินของ MPJWD จำนวน 150 ล้านบาท

นอกจากนี้นำไปพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร (ERP) 20 ล้านบาท ,จัดหาซื้อรถหัวลาก หางพ่วงทดแทน 30 ล้านบาท, ปรับปรุงลานตู้ จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในลานตู้ 20 ล้านบาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัท จำนวน 63 ล้านบาท

ทั้งนี้ จำนวนเงินที่บริษัทนำมาเพิ่มทุนใน MPJWD จำนวน 185 ล้านบาทนั้น จะมีผลกระทบจากการเพิ่มทุนดังกล่าวจะส่งผลกระทบหลัก 2 เรื่อง ได้แก่ 1) บริษัทเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน MPJWD จาก 51.00% เป็น 97.49 %และ 2) ลดค่าใช้จ่ายต้นทุนทางการเงินของ MPJWD

นายจีระศักดิ์ มานะตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MPJ กล่าวว่า MPJ เป็นบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ครบวงจร และมีประสบการณ์กว่า 16 ปี ให้บริการขนส่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ครอบคลุมการให้บริการขนส่งทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ และมีธุรกิจหลักคือการให้บริการลานตู้คอนเทนเนอร์ และ การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือ แหลมฉบังเชื่อมโยงการขนส่งทางบก

โดยในปี 2566 บริษัทฯมีรายได้ จากการให้บริการรวม 910.24 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิ 80.45 ล้านบาท และในงวด 6 เดือนของปี 2567 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 456 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 38.38 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top