“เอกนัฏ” ให้คำมั่นปกป้องพื้นที่นิคมฯ กรุงเก่า-ฟันลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ตลอดจนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค), นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ

“การลงพื้นที่วันนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทางนิคมฯ เขตประกอบการฯ สวนอุตสหากรรม และโรงงานต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมที่ดีและเพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีก่อน แม้ว่าขณะนี้ พื้นที่โดยรอบ จ.พระนครศรีอยุธยา จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบ้างแล้ว แต่พื้นที่เศรษฐกิจของ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังไม่ได้รับผลกระทบ และขอให้เชื่อมั่นว่าเราได้เตรียมการรับมืออย่างเต็มกำลัง มีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย และได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชน” นายเอกนัฏ กล่าว

ทั้งนี้ ได้เตรียมความพร้อมใน 8 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.จัดการระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 2.เสริมคันกั้นน้ำ 3.ระบบสูบน้ำพร้อมใช้ 4.อุปกรณ์ครบพร้อมช่วยเหลือ 5.ติดตามสถานการณ์ 24 ชั่วโมง 6.เฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง 7.ซ้อมแผนรับมือเป็นประจำ และ 8.สื่อสารแจ้งเตือนผ่านทุกช่องทาง

ส่วนช่วงบ่าย รมว.อุตสาหกรรม และคณะ จะลงพื้นที่อำเภอภาชี และอำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมใน 2 พื้นที่ คือ

1) โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา พบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 ตัน ถูกเททิ้งอยู่โดยรอบอาคารโกดังเก็บของเสียอันตรายจำนวน 5 โกดัง และมีการลอบวางเพลิงเมื่อวันที่ 1 พ.ค.67 ทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึม และการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 6.9 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.67 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น

2) บริษัท เอกอุทัย จำกัด อำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา พบการเททิ้งของเสียบริเวณหน้าพื้นที่โรงงาน มีร่องรอยการเททิ้งของเหลวที่เป็นวัตถุอันตรายที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นเต็มพื้นที่บริเวณโรงงาน ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พร้อมดำเนินคดี และสั่งการให้บริษัทฯ นำกากของเสียและสารอันตรายไปกำจัดและบำบัดให้ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จึงได้จัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.67 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น

“กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยการปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รัดกุม และครอบคลุมถึงการบรรเทาเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในระยะยาว” นายเอกนัฏ กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้ กำลังเร่งดำเนินการยกร่างกฎหมายเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จะทำการตรวจสอบกำกับดูแล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเชิงรุกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตรวจกำกับ สั่งการ เพิกถอนใบอนุญาต และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top