นายกฯ ขอโทษผู้เสียหายคดีตากใบ ชี้ไม่เข้าเกณฑ์ออก พ.ร.ก.แก้ไขอายุความ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคดีตากใบที่จะหมดอายุความในวันพรุ่งนี้ (25 ต.ค.) ว่า คดีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งตนได้กลับไปดูข้อมูลที่ผ่านมา รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว และเสียใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเห็นว่ารัฐบาลตั้งแต่สมัย 20 ปีที่แล้ว ได้ออกมาแสดงความเสียใจ และขอโทษ ตั้งแต่ในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 3 รัฐบาล ก็ได้ชดเชยจ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวไปแล้ว

“ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ก็รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และก็ต้องขอโทษในนามของรัฐบาล ว่าจะทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก” น.ส.แพทองธาร กล่าว

คดีดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และรัฐบาลได้เร่งรัดในการดำเนินการคดีนี้ และเมื่อเช้าได้พูดคุยถึงผลสรุปต่าง ๆ ว่ากฎหมายจะทำอย่างไรได้บ้าง

ส่วนความเป็นไปได้ที่จะออก พ.ร.ก.แก้ไขอายุความนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ส่งเรื่องไปสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งให้ความเห็นมาว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนด ส่วนเนื้อหาที่เป็นการต่ออายุความเฉพาะคดี อันเป็นการตรากฏหมายขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อบังคับใช้แก่คดีดังกล่าว ไม่ได้มุ่งขยายอายุความในคดีลักษณะเดียวกันเป็นการทั่วไปนั้น อาจเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล และหลักกฏหมายอาญาสากล สรุปคือ การออก พ.ร.ก.อายุความในคดีดังกล่าว จึงไม่เข้าเกณฑ์

“ขอให้ทุกคน รวมถึงรัฐบาลเอง ตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่สงบสุข ไม่อยากให้ทุกฝ่ายต้องเกิดความขัดแย้ง ซึ่งกันและกัน และขอให้ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลก็เต็มที่ในเรื่องนี้เช่นกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนการเตรียมรับมือ หลังคดีตากใบหมดอายุความนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคงก็ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ในการดูแลและค้นหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุดที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ตนได้รับรายงานจากหน่วยงานความมั่นคง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ายังไม่มีผู้เสียชีวิต หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่อยากให้โยงเรื่องความรุนแรงนี้ กับเรื่องการเมือง และไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก พร้อมย้ำว่า ไม่อยากให้โยงเรื่องนี้ไปเกี่ยวกับการเมือง

มาตรการคุมเข้มความปลอดภัย มองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ตอนนี้หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงกลาโหม ก็ได้ดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และพยามตรึงกำลังเรื่องนี้อยู่แล้ว

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้โยงกับประเด็นทางการเมือง เพราะว่าในเรื่องของคดีตากใบ ได้รับการเยียวยา และการพูดคุย ทุกคนได้พยายามอย่างสุดความสามารถ ในการดูแลปัญหา และดูแลจิตใจ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนในเรื่องอื่น ๆ ไม่อยากให้อะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของคดีนี้ เป็นตัวเสริมที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ขอให้ไม่เป็นเช่นนั้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนกดดันหรือไม่ เพราะที่เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ นั้น น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ก็ได้มีความรับผิดชอบแล้ว และได้มีการพูดคุยกันในหลายฝ่าย ขณะที่ในสมัยรัฐบาลนี้ ตนก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดอย่างสุดความสามารถ ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย หากถามว่ากดดันหรือไม่ มันไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของประเทศชาติ และการดูแลทุกคนในประเทศ ดังนั้นไม่ว่าจะหัวข้อไหนก็ต้องดูแลอย่างเต็มที่ ในทุกพื้นที่

ส่วนที่ทนายฝ่ายโจทก์หารือกันว่า หากพึ่งพากระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้ ก็จะนำไปฟ้องศาลโลกนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คดีนี้เกิดมาแล้ว 20 ปี จนถึงทุกวันนี้ ก็มีการฟ้องร้องเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ซึ่งจริง ๆ แล้วมีหลายประเด็นประกอบกัน ตนคงตอบได้แค่นี้ และคิดว่าศาลก็ได้ทำหน้าที่ และมีการตัดสินไปแล้วก่อนหน้านี้

ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทาง การส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อเสนอหลังคดีหมดอายุความ โดยให้รัฐบาลเยียวยาเพิ่มเติม นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องไปพิจารณากันก่อนว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีการเยียวยากันไปแล้วอย่างไรบ้างในทุกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต

สำหรับโอกาสที่นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นายกฯ ตอบว่า แน่นอน ต้องลงไปทุกพื้นที่อยู่แล้ว โดยต้องพิจารณาเรื่องสถานที่ และหาเวลาที่เหมาะสมด้วย ว่าจะไปที่ไหนอย่างไร ก่อนหรือหลัง

สำหรับมาตรการที่จะมีต่อ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี หากเดินทางกลับมาประเทศไทย หลังคดีหมดอายุความ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องพูดคุยกัน ซึ่งขณะนี้ พล.อ.พิศาล ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว และไม่มีใครได้คุยกับ พล.อ.พิศาลเลย แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องอยู่แล้ว อะไรที่สามารถเจรจาพูดคุยได้ ก็ต้องทำ ต้องไปข้างหน้าอยู่แล้ว หรือพยายามย่อปัญหาลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top