จากกรณีกรมสรรพสามิต รายงานผลการปราบปรามยาสูบผิดกฎหมาย ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจับกุมได้ 13,170 คดี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 60% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นค่าปรับ 361.73 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 2,334.40 ล้านบาท จำนวนของกลาง แบ่งเป็น ยาสูบในประเทศ 301,961 ซอง และยาสูบต่างประเทศ 2,579,434 ซอง นั้น
น.ส.ธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าบุหรี่เถื่อนยังเป็นปัญหาที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนครั้งการจับกุม จำนวนมวน และมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม ในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ ดังนั้นจึงขอเสนอให้รัฐบาลช่วยยกระดับการแก้ปัญหาให้เป็นวาระระดับชาติ
โดยบุหรี่เถื่อนส่วนใหญ่ ลักลอบมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางบก และทางทะเล หวังหลีกเลี่ยงภาษี และนำมาขายในประเทศในราคาที่ถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายแบบหลายเท่าตัว คนก็ยิ่งเข้าถึงง่าย ส่งผลให้มาตรการควบคุมบุหรี่ที่ต้องการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ใช้ไม่ได้ผล
“ร้านค้าที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายในประเทศ กว่า 5 แสนราย ยังได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ โดยเฉพาะร้านค้าในภาคใต้ ที่รายได้ต่อวัน จากการขายสินค้าลดลงเฉลี่ย 700-1,400 บาท เนื่องจากลูกค้าหันไปซื้อบุหรี่เถื่อนที่มีราคาถูก จากร้านค้าที่ผิดกฎหมาย” ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย ระบุ
นอกจากนี้ บุหรี่เถื่อน ยังส่งผลกระทบต่อรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ขาดหายไป เพราะบุหรี่ทุก ๆ 1 ซอง ต้องเสียภาษีให้กระทรวงมหาดไทยในอัตรา 10% จากภาษีสรรพสามิต หรือประมาณซองละ 4 บาท (ราคาบุหรี่ซองละ 75 บาท) และบุหรี่ถูกกฎหมายที่ขายในต่างจังหวัด ต้องเสียภาษี อบจ. เพิ่มอีก 1.86 บาท/ซอง ซึ่งในแต่ละ ปีภาษี 2 ก้อนนี้หายไปกว่า 2,400 ล้านบาทจากการเติบโตของบุหรี่เถื่อน
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากอุตสาหกรรมยาสูบ ที่ระบุว่า เมื่อสิ้นปี 2566 บุหรี่เถื่อนมีสัดส่วนถึง 25.5% เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยจังหวัดที่พบบุหรี่เถื่อนมากที่สุด ยังคงเป็น จ. สงขลา คิดเป็น 90%, สตูล 88%, พัทลุง 75% และภูเก็ต 74%
สำหรับข้อมูลการจัดเก็บรายได้ภาษี อบจ. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2566 โดยสำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) พบว่า รายได้จากการเก็บภาษี อบจ. ทั้งบุหรี่ไทย และบุหรี่ต่างประเทศ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ มีจำนวน 670 ล้านบาท คิดเป็น 7.9 % ของรายได้จากการเก็บภาษี อบจ. ทั้งประเทศ
โดยเมื่อแยกเป็นรายปี พบว่าแนวโน้มการจัดเก็บภาษีบุหรี่ อบจ. ลดลงทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ จากที่จัดเก็บได้ราว 50 ล้านบาท ในปี 2563 มีอยู่ไม่ถึง 10 ล้านบาท ในปี 2566 ทั้งนี้ หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง คาดว่าปีต่อ ๆ ไป รายได้จากการจัดเก็บภาษี อบจ. ในพื้นที่ภาคใต้จะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ไม่เหลือเพียงพอสำหรับนำไปพัฒนาท้องถิ่น และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 67)
Tags: กรมสรรพสามิต, ธัญญศรัณ แสงทอง, บุหรี่เถื่อน, สมาคมการค้ายาสูบไทย