CEO Survey เก็งเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2-3% หวังท่องเที่ยวฟื้น-แรงกระตุ้นภาครัฐ ห่วงหนี้ครัวเรือนฉุด-ขึ้นค่าจ้างกดดัน

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ และประเด็นที่น่าสนใจในปี 2567-2568 รวบรวมข้อมูลในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม – 27 กันยายน 2567 มีบริษัทจดทะเบียนร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 249 บริษัท พบว่า

• 63% ของ CEO คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และปี 2568 จะเติบโตได้ที่ระดับ 2-3% โดยปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2567 และต่อเนื่องถึงปี 2568 คือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันเศรษฐกิจคือหนี้ครัวเรือน กำลังซื้อภายในประเทศ และเสถียรภาพทางการเมือง อย่างไรก็ตาม มองว่าในปี 2568 เสถียรภาพการเมืองโลกและต้นทุนค่าจ้างแรงงานอาจมีส่วนกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น

• CEO เกินกว่า 70% คาดการณ์รายได้ของบริษัทยังคงเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 และอัตราการเติบโตจะเร่งขึ้นอีกในปี 2568 โดย CEO ส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุด ตามด้วยปัจจัยด้านต้นทุน เช่น ต้นทุนด้านพลังงาน

• CEO 3 ใน 4 มีความสนใจที่จะลงทุนหรือขยายกิจการเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน (69%) ประเทศจีน (12%) และประเทศอินเดีย (10%) อย่างไรก็ตาม CEO จำนวนมากยังมีความกังวลในด้านสภาพคล่องที่เกี่ยวกับยอดขายที่ชะลอตัวลง (64%) และการชำระเงินของลูกหนี้การค้า (55%)

• CEO จำนวนประมาณ 70% มองเทรนด์โลกอย่างเทคโนโลยี Generative AI และการปรับตัวด้านความยั่งยืน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจ แต่กังวลสงครามการค้าระหว่างประเทศและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบในทางลบ

ด้านเศรษฐกิจ

CEO คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ 2-3% ในปี 2567 และ 2568 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ มองเสถียรภาพทางการเมืองไทย ปัญหาหนี้ครัวเรือนและกำลังซื้อภายในประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจ คาดเงินเฟ้อ 2567 เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ CEO ส่วนใหญ่คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP growth) ในปี 2567 และ 2568 จะอยู่ที่ราว 2-3% ทั้งในปีนี้และปีหน้า

ปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจ สำหรับปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 CEO มองว่า ปัจจัยที่จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากที่สุดอันดับแรก คือ การท่องเที่ยว ตามด้วยนโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยในปี 2568 CEO มองว่า นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกจะเข้ามามีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ในด้านปัจจัยที่ส่งผลทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดสำหรับปี 2567 CEO มองว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ เสถียรภาพการเมืองไทย หนี้ครัวเรือน และกำลังซื้อภายในประเทศ ตามลำดับ และสำหรับปี 2568 ก็ยังคงเป็น 3 ปัจจัยเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 CEO มองว่าเสถียรภาพการเมืองไทยและปัญหากำลังซื้อภายในประเทศจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจน้อยลง แต่เสถียรภาพการเมืองโลกและต้นทุนค่าจ้างแรงงานจะเข้ามามีบทบาทกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งบางท่านมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างการผลิตของประเทศไทยที่ยังเป็นอุตสาหกรรมรูปแบบเก่าซึ่งต้องมีการปรับตัว และการเข้ามาทำตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 CEO ส่วนใหญ่ราว 60% เชื่อว่าน่าจะอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (1%-3%) และ 27% มองว่าอาจจะต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อ

ด้านการดำเนินธุรกิจ

CEO คาดว่ารายได้จากการประกอบธุรกิจยังเติบโตได้ในปี 2567 และอัตราการเติบโตจะเร่งขึ้นในปี 2568 ยังเชื่อมั่นลงทุนขยายธุรกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้านสภาพคล่องของธุรกิจยังเป็นปกติแม้อาจมีความเสี่ยงจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลงและต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการปรับกลยุทธ์ในหลายๆ ด้าน เพื่อรับมือกับความท้าทาย

รายได้ของธุรกิจ สำหรับปี 2567 CEO ที่คาดการณ์ว่ารายได้ของธุรกิจจะเติบโตเล็กน้อยถึงปานกลาง (0.1-10%) มีจำนวนรวม 55% สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในครึ่งปีแรก 2567 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.3% และ 7.7% สำหรับบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ตามลำดับ สำหรับปี 2568 CEO คาดว่ารายได้ของธุรกิจจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ในทุกระดับการเติบโต สะท้อนว่าในภาพรวม CEO คาดว่าอัตราการเติบโตของรายได้น่าจะเร่งตัวขึ้นในปีหน้า

การลงทุน CEO 3 ใน 4 มองว่าช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้ามีความน่าสนใจลงทุนหรือขยายกิจการเพิ่มเติม โดยจากกลุ่มดังกล่าว จำนวนประมาณ 2 ใน 3 มีความสนใจในภูมิภาคอาเซียนนำโดยประเทศไทยและตามมาด้วยเวียดนาม และให้ความสนใจรองๆ ลงมาในประเทศจีนและประเทศอินเดีย ตามลำดับ ซึ่งเป็นภูมิภาคหรือประเทศที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจกำลังพัฒนารวดเร็ว

ปัจจัยการดำเนินธุรกิจที่ต้องติดตามในช่วง 12 เดือนข้างหน้า CEO ส่วนใหญ่ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุด ตามด้วยปัจจัยต้นทุนการผลิตทั้งด้านวัตถุดิบ พลังงาน และต้นทุนทางการเงิน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ รวมทั้งบางท่านมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้ามาทำตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่ถูกระบุเพิ่มเข้ามาในการสำรวจรอบนี้

การบริหารด้านสภาพคล่อง จากผลการสำรวจความกังวลของ CEO เกี่ยวกับสภาพคล่องของกิจการในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แสดงให้เห็นว่า CEO ส่วนมากยังมีความกังวลในด้านสภาพคล่องที่เกี่ยวกับยอดขายที่ชะลอตัวลงและการชำระเงินของลูกหนี้การค้า และส่วนหนึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับการขอสินเชื่อธนาคารและวงเงินสินเชื่อ

การปรับตัวทางธุรกิจรับมือความท้าทาย บริษัทจดทะเบียนดำเนินการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทาย โดยมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายการลงทุน ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ในด้านโครงสร้างธุรกิจและการลงทุน CEO ส่วนใหญ่เลือกที่จะปรับโครงสร้างภายในบริษัทเองมากกว่าที่จะปรับโครงสร้างผ่านการควบรวมกิจการหรือเปิดให้มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และ 70% เน้นการขยายการลงทุนภายในประเทศ โดยมีบริษัท 40% ที่พิจารณาขยายการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนบริษัทจดทะเบียนราว 35% ที่มีการรายงานรายได้จากต่างประเทศในปีล่าสุด และมีบริษัทราว 20% และ 30% ที่มีการพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากการเสนอขายตราสารทุนและหุ้นกู้ ตามลำดับ

ในด้านการดำเนินงานและการตลาด CEO จำนวนมากระบุว่าได้ดำเนินการหรือมีแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านแรงงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าหรือบริการ ควบคู่ไปกับการทำวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และราคาให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าหรือบริการ รวมทั้งมีการปรับช่องทางการโฆษณาสินค้าและวิธีการสื่อสารเฉพาะกลุ่มให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแทนกลยุทธ์ทางการตลาดแบบเดิม

ประเด็นเพิ่มเติม

CEO มองเทรนด์โลกอย่างเทคโนโลยี Generative AI และการปรับตัวด้านความยั่งยืน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่เห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและสงครามการค้าระหว่างประเทศอาจส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจ

CEO ส่วนใหญ่มองว่า ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เทคโนโลยี Generative AI และเทรนด์การปรับตัวด้านความยั่งยืน (sustainability) จะส่งผลเชิงบวกทั้งต่อเศรษฐกิจไทยและการดำเนินธุรกิจมากที่สุด อาจนำมาทั้งโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในทางกลับกัน CEO ส่วนใหญ่มองว่าการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลเชิงลบทั้งต่อเศรษฐกิจไทยและการดำเนินธุรกิจ โดยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยที่ CEO ส่วนใหญ่มองว่าอาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและส่วนหนึ่งมองว่าอาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ คือ สงครามการค้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top