นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ว่า เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ส่วนหนึ่ง ซึ่งการลดดอกเบี้ยถือเป็นการช่วยลดภาระ โดยเฉพาะคนที่เป็นหนี้
“การที่คนจะไปกู้เงินล็อตใหม่ได้ดอกเบี้ยต่ำลง 0.25% อาจไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ แต่ประเด็นสำคัญ คือคนที่เป็นหนี้เยอะ ก็จะแบ่งเบาได้ และมีผลต่อความเชื่อมั่น เพราะเงินกู้ที่อยู่ในตลาด โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) จะมีผลดีกับผู้ที่ลงทุนรุ่นเก่า ดังนั้น ผลที่ออกมาเป็นไปแนวทางบวก” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังกล่าว
ทั้งนี้ ยังเป็นห่วงหนี้ส่วนบุคคล กับหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งนายพิชัย มองว่า เรื่องดังกล่าวมาถูกจุดแล้วที่ลดอัตราดอกเบี้ย แต่ต้องมีสภาพคล่อง และหาทางที่จะพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้มีการปล่อยสภาพคล่องเข้ามาในตลาดมากขึ้น
ส่วนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ทำเต็มที่แล้ว และทำทุกมิติในจำนวนที่มาก เนื่องจากสถานะของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในช่วงที่ผ่านมา มีความเข้มแข็ง จึงอยากจะเห็นความร่วมมือและช่วยกันฟื้นฟูเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้ามา ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ย จะมีผลทำให้สภาพคล่องไหลกลับเข้ามาส่วนหนึ่ง ดังนั้น ก็ถือเป็นไปตามที่คาดหวัง
ส่วนความคาดหวังการลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในการประชุม กนง.รอบต่อไปนั้น นายพิชัย กล่าวว่า คงต้องพิจารณา เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยผูกกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก จึงต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่าสถานการณ์ต่างประเทศ ตลอดจนวิธีคิด แนวโน้มไปในทิศทางใด ซึ่ง กนง. ก็ต้องคิดให้หนัก
สำหรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ควรปรับมาอยู่ที่ 2-3% หรือไม่นั้น นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลคาดหวังอย่างนั้น เพราะถ้าอยากช่วยเศรษฐกิจโตขึ้น ก็ต้องตั้งกรองเงินเฟ้อให้สูงกว่าปัจจุบัน ส่วนตัวเห็นว่าเงินเฟ้อต่ำกว่า 1% คงไม่ได้
“ปกติได้มีการตกลงเป็นปีต่อปีอยู่แล้ว ดังนั้น ช่วงนี้ใกล้สิ้นปี ก็คงต้องมีการนั่งพูดคุยตกลงกัน ซึ่งภาครัฐบอกแล้วว่า ได้เวลาแล้วในเดือนนี้ ที่จะต้องมานั่งพูดคุยกัน และทุกคนต้องเตรียมข้อมูลและส่งเรื่องนี้ให้กันต่อไป” นายพิชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 67)
Tags: กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, พิชัย ชุณหวชิร, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย