กนง.ยันหั่นดอกเบี้ยไม่ใช่ “การเมืองกดดัน” แต่เห็น Room ปรับสมดุล จับตาผลส่งผ่านนโยบาย

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยืนยันว่า การที่ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมรอบนี้ ไม่ใช่เพราะแรงกดดันทางการเมือง แม้จะมีภาพการหารือระหว่างนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.

นายสักกะภพ กล่าวว่า ทั้ง ธปท. และรัฐบาล ต่างร่วมหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดอยู่แล้ว รวมทั้งการหารือกับภาครัฐ และเอกชนจากส่วนอื่น ๆ ที่ได้ให้ข้อมูลกับ กนง. เพื่อนำมาประมวลเป็นภาพรวมในการพิจารณากำหนดนโยบายการเงิน ซึ่งรอบนี้หลังจากที่ประมวลในภาพรวมแล้วมองว่ามี room เพียงพอที่จะสามารถปรับสมดุลในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินได้ (Financial Stability) และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงได้

เชื่อลดดอกเบี้ยไม่นำไปสู่การก่อหนี้ใหม่เพิ่มจนน่ากังวล

เลขาฯ กนง. ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยลง ผลคือการลดภาระหนี้ ช่วยเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้นบ้าง แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เรากำลังพิจารณาเพื่อสร้างความสมดุล กล่าวคือ การดูว่าเมื่อลดดอกเบี้ยลงแล้ว การก่อหนี้ใหม่จะเป็นอย่างไร เพราะต้องดูทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ หนี้เก่าอาจจะลดลง แต่ขณะเดียวกันอาจมีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้น

“ถามว่าเรากังวลหรือไม่กับหนี้ใหม่ที่จะเร่งตัวขึ้น จากพัฒนาการที่ได้ติดตามสินเชื่อที่ผ่านมา คิดว่าไม่น่าจะมีความเสี่ยงมากนัก ดังนั้น กรรมการฯ จึงชั่งน้ำหนักออกมาว่า ภาระหนี้ที่ลดลงที่เป็นการช่วยลูกหนี้ กับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี (deleveraging) น่าจะเกิดได้ต่อเนื่องในช่วงนี้” นายสักกะภพ ระบุ

ส่วนการหารือเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในรอบใหม่กับกระทรวงการคลังนั้น เป้าหมาย คือ การดูแลอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว และดูแลความผันผวนของเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อของไทยนั้น ความผันผวนมีปัจจัยหลักมาจากด้านอุปทาน และปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก ดังนั้นกรอบเงินเฟ้อที่ดีควรมีความยืดหยุ่นสามารถรองรับความผันผวนได้ และมองว่าอัตราเงินเฟ้อไม่ควรอยู่ในระดับที่สูงจนเกินไป และควรเป็นระดับที่ช่วยสนับสนุนการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเงินเฟ้อในระดับที่สูงเกินไปเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น

“เราต้องการความยืดหยุ่น ถ้าเราจะกลัวเงินเฟ้อต่ำ กลัวเพราะอะไร คงกลัวความเสี่ยงเรื่องเงินฝืด คนไม่ไปจับจ่ายใช้สอย แต่เรายังไม่เห็นภาพนั้น แต่หากเงินเฟ้อสูงเกินไป เราเห็นข้อเสีย ต้นทุนผู้ประกอบการก็จะสูงขึ้น ค่าครองชีพที่ปัจจุบัน แม้ตัวเลขเงินเฟ้อต่ำ แต่จริง ๆ ค่าครองชีพขึ้นไปแล้ว และระดับราคาค้างอยู่ สูงอยู่แล้ว” นายสักกะภพ กล่าว

กนง. เทน้ำหนักด้านเสถียรภาพการเงิน

นายสักกะภพ กล่าวด้วยว่า การพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะพิจารณาจาก 3 ด้านหลัก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน หรือหนี้ครัวเรือน ซึ่งในขณะนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อไม่ได้แตกต่างไปจากที่ได้คาดการณ์ไว้

การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.7% จากประมาณการเดิม 2.6% และในปี 2568 ขยายตัว 2.9% จากประมาณการเดิม 3.0% ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคเอกชน และมีปัจจัยเสริมจากภาคการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้น และรวมผลจากมาตรการเงินโอนของภาครัฐ 10,000 บาทที่ให้กับกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ อยู่ที่ 0.5% และปี 2568 อยู่ที่ 1.2% ซึ่งยอมรับว่าการที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมีปัญหามาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และการนำเข้าสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ดี คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ขอบล่างของเป้าหมาย (1-3%) ได้ในช่วงปลายปีนี้

ดังนั้น น้ำหนักในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ คือ เสถียรภาพทางการเงิน ในส่วนของหนี้ครัวเรือน ซึ่งเราเห็นว่ามี room ที่จะปรับสมดุลได้บ้าง ระหว่างภาระหนี้ที่จะลดลงของลูกหนี้ กับกระบวนการลดหนี้ของครัวเรือน (หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี) ซึ่งเมื่อมองไปข้างหน้า เราคาดการณ์ว่าหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มจะปรับลดลงได้ เพราะจากการติดตามพัฒนาการของสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในระยะข้างหน้าอยู่แล้ว ดังนั้นความจำเป็นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม จึงน้อยลง ขณะเดียวกัน การลดดอกเบี้ยลง ยังสอดคล้องกับระดับดอกเบี้ยที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ คือไม่ได้ไปกระตุ้น หรือไปเพิ่มการก่อหนี้ครัวเรือน

กนง. แจงหั่นดอกเบี้ยรอบนี้ไม่ใช่ Easing Cycle

นายสักกะภพ ยืนยันว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง (Easing Cycle) แต่เป็นการปรับลดเพื่อรอดูผล โดย กนง. คาดหวังว่าจะได้เห็นการส่งผ่านสถาบันการเงินไปถึงประชาชนในอัตราใกล้เคียงกันกับในช่วงที่ผ่านมาที่มีการปรับลดดอกเบี้ยในอดีต คือ อย่างน้อยเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องติดตามต่อไป แต่คาดว่าการส่งผ่านคงจะไม่ช้านัก

“ดังนั้น เราจึงคิดว่ามี room ที่จะปรับดอกเบี้ยลงมา เมื่อมองกับหลาย ๆ อย่าง เช่น ภาวะการเงินโลกที่เข้าสู่ easing cycle ที่แม้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นปัจจัยที่มองแล้วไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้…เวลาเราทำนโยบายภายใต้กรอบเงินเฟ้อยืดหยุ่น เราดู 3 ด้าน กรรมการส่วนใหญ่ มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยในรอบนี้ ดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ยังเป็นกลางต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออยู่ เราไม่ได้เข้าไปโซนที่ไปกระตุ้น ไม่ได้เป็น easing cycle หรือไม่ใช่การลดดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง แต่เป็นการลดเพื่อรอพิจารณาข้อมูลในระยะต่อไป” เลขานุการ กนง.ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top