KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว แต่ KKP Research ปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 67 ขึ้นจาก 2.6% เป็น 2.8% และปี 68 ขึ้นจาก 2.8% เป็น 3.0% เพื่อสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น จากสองปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ
- การแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางของภาครัฐในช่วงไตรมาส 4/67 และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ตั้งรอไว้สำหรับปี 68
- การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ภาคการผลิตบางกลุ่ม และการบริโภคสินค้าคงทนยังคงเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นการปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้นเท่านั้นจากแรงกดดันเชิงโครงสร้างในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ปัญหาความสามารถในการแข่งขันระยะยาวในภาคการผลิต และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยประเมินว่าการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตได้ต่ำกว่า 2.5% หากไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชัดเจน
KKP Research ปรับประมาณการการส่งออก (ที่แท้จริง) ในปี 67 ขึ้นจาก 1.3% เป็น 2.3% จากการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ โดยการขยายตัวของการส่งออกปรับตัวดีขึ้นในหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ผลทางบวกต่อเศรษฐกิจจากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกอาจมีไม่มากเท่ากับในอดีต จากหลายสาเหตุ คือ
- การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นในบางสินค้ามีแนวโน้มเกิดจากการ “Rerouting” หรือเป็นการเปลี่ยนเส้นทางการค้าจากจีนไปสหรัฐฯ โดยตรงเป็นการส่งสินค้าจากจีนผ่านไทยไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันทางภาษี ซึ่งอาจจะมีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศค่อนข้างน้อย
- การส่งออกที่เป็นตัวเงินปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การส่งออกที่แท้จริงอาจปรับตัวสูงขึ้นน้อยกว่า 3) การผลิตสินค้าบางกลุ่มยังไม่ปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออก เนื่องจากสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง เช่น กลุ่ม ICs และ Electronics เป็นต้น จากมูลค่าเพิ่มในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง KKP Research ประเมินว่า การเพิ่มขึ้นของการส่งออก 1% จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจลดลงจากประมาณ 0.3ppt เหลือประมาณ 0.1ppt ถึง 0.2ppt เท่านั้น
เศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลบวกระยะสั้นจากนโยบายแจกเงินของรัฐบาลในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมีการแจกเงินจำนวน 142,000 ล้านบาทให้กับกลุ่มเปราะบางหรือคิดเป็นประมาณ 0.7% ของ GDP
KKP Research ประเมินว่าผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะมีค่า Multiplier ที่ประมาณ 0.3 โดยประเมินว่า การแจกเงินในรอบแรกส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.2-0.3 ppt และมีแนวโน้มส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้เติบโตได้เกิน 4%
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2567/68 ยังมีการอนุมัติงบประมาณอีก 150,000-180,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.8-0.9% ของ GDP ซึ่ง KKP Research ประเมินว่า การแจกเงินก้อนที่สองจะมีการใช้งานได้ในช่วงไตรมาส 2 ถึง ไตรมาส 3 ปี 68 และน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้ประมาณ 3% ในปี 68
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ และแนวโน้มสถานการณ์การเมืองไทยที่มั่นคงขึ้นในระยะสั้น KKP Research ประเมินว่า นโยบายที่สำคัญ คือ 1. การปรับโครงสร้างหนี้ 2. การส่งเสริมและปกป้องผู้ประกอบการรายเล็กถึงกลางจากการแข่งขันจากต่างประเทศ 3. การให้ความช่วยเหลือด้านราคาพลังงานและสาธารณูปโภค 4. การดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบ และ 5. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี KKP Research ยังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายของภาครัฐ จากหลายนโยบายที่ยังไม่มีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน และข้อจำกัดด้านหนี้สาธารณะของภาครัฐ โดยในสถานการณ์ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อ GDP ของภาครัฐกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าสู่ระดับ 70% ของ GDP ในขณะที่ รายได้ภาษีต่อ GDP มีแนวโน้มลดลง
KKP Research ยังคงมุมมองระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยโดยประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มโตได้ต่ำกว่า 2.5% หากไทยยังขาดนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ชัดเจน โดยประเมินว่าในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังคงเผชิญกับ 4 แรงกดดันเชิงโครงสร้างที่สำคัญ คือ
- โครงสร้างประชากร โครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบันกำลังเป็นปัจจัยลบต่อศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว จากจำนวนคนวัยทำงานที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2558
- ความสามารถในการแข่งขัน ภาคการผลิตไทยเผชิญกับปัญหาควาสามารถในการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี โดยการผลิตมีทิศทางที่หดตัวลงต่อเนื่องจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
- ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนไทยหดตัวลงรุนแรงถึง 5.7% ในไตรมาส 2 ของปีสูงกว่าที่คาดไว้ โดยการหดตัวเกิดขึ้นหลังจากภาคการผลิตไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในขณะที่การลงทุนในกลุ่มการก่อสร้างหดตัวลงเช่นกันตามตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ
- สถานะทางการเงินของครัวเรือนที่อ่อนแอ โดยหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 80% ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มฉุดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบกับหนี้เสียในภาคธนาคารเริ่มปรับตัวสูงขึ้นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาสอดคล้องกับยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีแนวโน้มหดตัวลง
ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งขึ้นเร็วมากที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าการแข็งค่าของเงินบาทยังมีแนวโน้มเกิดจากปัจจัยระยะสั้น ซึ่งเกิดจากการอ่อนค่าลงเร็วของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และบรรยากาศการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองที่มีทิศทางชัดเจนขึ้น และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป KKP Research ประเมินว่าว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาวไม่สอดคล้องกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในระยะสั้น และยังคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังมีแนวโน้มต่ำกว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับไปใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดแล้วก็ตาม โดยการเกินดุลในระยะต่อไปจะอยู่ในระดับประมาณ 1-3% ของ GDP เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิดที่ระดับ 7-8% ของ GDP ซึ่งเป็นผลมาจากหลายองค์ประกอบ จากทั้งดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลงตามราคาน้ำมันและความสามารถในการแข่งขัน รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง และค่าขนส่งที่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด
แม้ว่า KKP Research จะปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 67 และ 68 ขึ้น แต่ยังคงประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปีนี้ และจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 2 ครั้งในไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้าสู่ระดับ 1.75% จากระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างสูงแล้วเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ระดับอัตราดอกเบี้ยในอดีต และระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่หนี้ครัวเรือนที่อยูในระดับสูงเริ่มมีสัญญาณปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 67)
Tags: GDP, KKP, KKP Research, เศรษฐกิจไทย