สมาคมการขายตรงไทย ระบุว่า จากประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นของแบรนด์ธุรกิจรายหนึ่งนั้น แบรนด์ธุรกิจดังกล่าว ไมได้เป็นสมาชิกของสมาคมการขายตรงไทย ทั้งนี้ สมาคมฯ ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจขายตรงที่ถูกต้อง ดังนี้
1. ผู้ประกอบธุรกิจต้องจดทะเบียนก่อนการประกอบธุรกิจขายตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
2. ค่าธรรมเนียมในการสมัครเป็นผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรง ต้องมีความเหมาะสม เงินค่าสมัครจ่ายเพื่อคู่มือความรู้ เอกสารฝึกอบรม และสินค้าตัวอย่างเท่านั้น
3. มีความรับผิดชอบต่อผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง โดยมีแผนธุรกิจกิจที่เป็นไปได้จริง และคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจในระยะยาว
4. การจ่ายผลตอบแทน รายได้ และตำแหน่ง ให้แก่ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง ต้องมาจากการขายสินค้าหรือบริการ ไม่ใช่การระดมทุน หรือใช้เงินซื้อตำแหน่ง โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นแผนธุรกิจในการจ่ายผลตอบแทน เพื่อให้สคบ. พิจารณาและอนุมัติ
5. เน้นการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ยอดขายมาจากการจำหน่ายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ได้มาจากการกักตุนสินค้าของผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง และคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ
6. มีการรับประกันความพอใจของสินค้า โดยลูกค้าสามารถคืนสินค้ากับบริษัทได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
7. มีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ เพื่อปกป้องผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง และผู้บริโภค
8. ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง ต้องไม่กล่าวอ้างหรือโฆษณาสรรพคุณของสินค้าเกินจริง
ธุรกิจขายตรง
- ค่าสมัครเหมาะสมและอาจมีเอกสารหรือสินค้าตัวอย่าง
- มีการรับประกันสินคาและรับซื้อคืน เมื่อนักขายตรงต้องการลาออก
- ไม่มีนโยบายกักตุนสินค้าจำนวนมาก
- แผนการจ่ายผลตอบแทน เป็นไปได้จริง
- รายได้หลักต้องมาจากการขายสินค้า ไม่ใช่การระดมเงินทุน
แชร์ลูกโซ่
- ค่าสมัครสูง เน้นการระดมทุน
- สินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่รับประกัน และไม่รับคืนสินค้า
- เน้นการกักตุนสินค้า
- เป็นธุรกิจระยะสั้น บริษัทไม่มีความมั่นคง
- รายได้หลักมาจากการระดมทุน หรือ ใช้เงินซื้อตำแหน่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 67)
Tags: ธุรกิจขายตรง, แชร์ลูกโซ่