นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยถึงภาพรวมผลประกอบการของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66 -ก.ย.67 ) คาดว่า ผู้โดยสารท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง จะเป็นไปตามเป้าหมาย 120 ล้านคน ส่วนรายได้เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับรายได้ในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินกลับสู่ภาวะปกติ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวยกเว้นวีซ่า(Free Visa) และการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่1 (SAT-1)ซึ่งช่วยสนับสนุนการรองรับผู้โดยสารและการเติบโตของเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นปีที่มีผลประกอบการดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ขณะที่ ผลประกอบการในรอบ 9 เดือน (ต.ค.66-มิ.ย.67 ) มีรายได้รวม 50,764.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.32% มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 14,910.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,551.41 ล้านบาท คิดเป็น 178.23% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
นายกีรติ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนาและท่าอากาศยานอันดามันว่า ทอท.ได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการเบื้องต้น(Preliminary Feasibility Study) แล้วเมื่อเดือนก.ย.67 ที่ผ่านมา วงเงินจ้างสัญญาละ 20 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาศึกษา 6 เดือน
โดยมีขอบเขตการศึกษาครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจการขนส่งสังคมและชุมชน ซึ่งจะรวมถึงการชดเชยเวนคืนและการโยกย้ายราษฎร, มิติด้านวิศวกรรม, มิติด้านสิ่งแวดล้อม, มิติด้านผลกระทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของโครงการรวมทั้งแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการ, มิติด้านปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการและมิติด้านการสื่อสารสร้างความเข้าใจโครงการ
ซึงในการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุนฯนี้จะมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ด้วยหลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อไปโดยตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2570
– โครงการท่าอากาศยานอันดามันมีพื้นที่ 7,300 ไร่ ในบริเวณต.โคกกลอยและต.หล่อยูง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาประเมินวงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท
– โครงการท่าอากาศยานล้านนามีพื้นที่ 8,050 ไร่ ตั้งอยู่ในบริเวณ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน วงเงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาทคาดเสนอครม.ขออนุมติก่อสร้างในช่วงไตรมาส 3/70 เปิดประมูลช่วงไตรมาส 4/70 ดำเนินการก่อสร้าง 42 เดือน(71-74)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 67)
Tags: AOT, กีรติ กิจมานะวัฒน์, ท่าอากาศยานไทย, หุ้นไทย