เงินเฟ้อไทย ก.ย.บวกต่อ 0.61% แต่ต่ำกว่าตลาดคาด หั่นเป้าทั้งปีเหลือ 0.2-0.8%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ก.ย.67 อยู่ที่ 108.68 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 0.61% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.74-0.80% ทั้งนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นดังกล่าว มีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล รวมทั้งผักสดบางชนิดที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก

ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 0.20%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนก.ย.67 อยู่ที่ 105.18 หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.77% โดยเฉลี่ย 9 เดือนแรก เงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.48%

สำหรับรายการสินค้าและบริการสำคัญในเดือนก.ย.67 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (ก.ย.66) พบว่ามีสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น 274 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, ข้าวสารเหนียว, พริกสด, ผักชี, ต้นหอม, กล้วยน้ำว้า, ไข่ไก่, น้ำตาลทราย, น้ำมันดีเซล ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ปลาทู, กระเทียม, ส้มเขียวหวาน, น้ำมันพืช, ผงซักฟอก, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, แชมพู, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ขณะที่สินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 49 รายการ ได้แก่ ค่าน้ำประปา, ก๊าซหุงต้ม, ค่าโดยสารแท็กซี่, ค่าโดยสารเรือ และนิตยสารรายเดือน เป็นต้น

*หั่นเป้าเงินเฟ้อปีนี้ เหลือ 0.2-0.8% จาก 0.0-1.0%

ทั้งนี้ สนค.ได้ปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ใหม่ มาอยู่ที่ 0.2-0.8% จากเป้าเดิมที่ 0-1% แต่ค่ากลางยังคงอยู่เท่าเดิมที่ 0.5% ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงครึ่งปีแรก อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับสถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าคาด

โดยสมมติฐานล่าสุดของเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ในปี 67 นี้ มาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ที่ 2.3-2.8% น้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปี 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปี 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์

“กระทรวงฯ ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 67 ใหม่ มาอยู่ที่ 0.2-0.8% จากเดิม 0.0-1.0% แต่ค่ากลางยังเท่าเดิมที่ 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง” นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุ

*คาดเงินเฟ้อ Q4/67 อยู่ที่ 1.49%

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 4 ว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 3 โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ 1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2) ผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักสดปรับตัวสูงขึ้น แต่ทั้งนี้คาดว่าเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น และ 3) สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว

“คาดว่าไตรมาส 4 เงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.49% ส่วนเดือนต.ค. คาดว่าอยู่ที่ 1.25% ทั้งนี้ เงินเฟ้อในช่วงปลายปีมีแนวโน้มสูงขึ้น จากผลพวงของสถานการณ์อุทกภัย ที่ทำให้พื้นที่ปลูกพืชผักบางส่วนได้รับความเสียหาย จึงทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดบ้านที่ราคาสูงขึ้น” นายพูนพงษ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอตัวลงได้ เช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง, การแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อสูง นอกจากนี้ คาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกไปแล้ว

อย่างไรก็ดี สนค. จะติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีของอิสราเอลกับอิหร่าน เนื่องจากหากสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือบานปลาย ย่อมส่งผลต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนราคาน้ำมันในตลาดโลก และมีผลกระทบมาถึงราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มีสัดส่วนค่อนข้างมากของการคำนวณในตะกร้าเงินเฟ้อ

นายพูนพงษ์ กล่าวด้วยว่า การแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบาง ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ไม่ได้ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น กล่าวคือ มาตรการแจกเงินดังกล่าว เป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ ไม่ได้มีผลต่อราคาแต่อย่างใด โดยจากการสำรวจร้านขายของชำ 133 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ร้านส่วนใหญ่ 95.5% ราคาสินค้ายังคงที่ และร้านส่วนใหญ่เกือบ 62% มียอดขายดีขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top