นายนพวงศ์ โอมาธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงินและบริหารองค์กร บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ปี 64 ไว้ที่ 8 แสนตัน ฟื้นตัวขึ้นจากปีนี้คาดทำได้ 7.4-7.5 แสนตัน ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณการขายอยู่ที่ 7.7 แสนตัน หลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปริมาณขายช่วงไตรมาส 2/63 ลดลง 4-5 หมื่นตัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของปริมาณการขายตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้คาดว่าปริมาณขายในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 น่าจะใกล้เคียงกัน และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 เป็นผลจากกลยุทธ์การเพิ่มจุดกระจายสินค้า โดยปีนี้วางเป้าขยายจุดดังกล่าว 17 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาขยายไปแล้ว 12 แห่ง เหลืออีก 5 แห่ง คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในปีนี้
ขณะที่ปี 64 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มจุดกระจายสินค้าอีก 17 แห่ง คาดจะใช้เงินลงทุน 300-400 ล้านบาท ประกอบกับในวันที่ 1 ม.ค.64 บริษัทเตรียมเปิดดำเนินการคลังเก็บและจ่ายก๊าซบางปะกง ส่วนต่อขยายเฟส 3 ที่มีความจุ LPG กว่า 8,700 ตัน ก็จะช่วยสนับสนุนการกระจายสินค้าและปริมาณการขายปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีหน้าด้วย
สำหรับคลังเก็บและจ่ายก๊าซบางปะกง ส่วนต่อขยายเฟส 3 ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบ โดยคลังดังกล่าวจะเป็นคลังก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัท ทำให้มีความจุทั้ง 3 เฟสรวมกันที่ 13,015 ตัน และยังช่วยเสริมศักยภาพของคลังเก็บและจ่ายก๊าซ LPG ทั่วประเทศให้มีความสามารถบรรจุก๊าซรวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 18,341 ตัน สอดคล้องกับข้อบังคับของกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ที่ในปี 64 กำหนดให้ผู้ค้า LPG ตามมาตรา 7 ต้องสำรองก๊าซ LPG ในคลังเพิ่มจาก 1% ของปริมาณการค้าประจำปี (3 วัน) เป็น 2% ของปริมาณการค้าประจำปี (7 วัน) เพื่อเสริมความมั่นคงระบบพลังงานไทย
“การขยายศักยภาพคลังเก็บและจ่ายก๊าซบางปะกง เฟส 3 ครั้งนี้ บริษัทได้ทุ่มงบในการลงทุนก่อสร้างกว่า 550 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนองนโยบายของกรมธุรกิจพลังงานที่กำหนดให้ผู้ค้า LPG มาตรา 7 ต้องสำรองก๊าซ LPG ในคลังเพิ่มจาก 1% เป็น 2% ของปริมาณการค้าประจำปี เพื่อเสริมความมั่นคงระบบพลังงานไทย และรองรับการเปิดเสรีธุรกิจในอนาคต ควบคู่กับการเสริมศักยภาพของซัพพลายเชนให้พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานของไทยครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”
นายนพวงศ์ กล่าว
นายนพวงศ์ กล่าวอีกว่า คลังแห่งใหม่นี้ยังมีความโดดเด่นตรงทำเลที่ตั้งริมแม่น้ำบางปะกง รองรับการขนส่งก๊าซทางเรือจากอ่าวไทยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการรับ และกระจายสินค้าของบริษัทสู่ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกของประเทศไทย รวมถึงเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับแผนการในการกระจายสินค้าทางเรือในอนาคต เอื้อต่อการกระจายสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอย่างทั่วถึง ทั้งในภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและภาคครัวเรือน รวมถึงทำให้บริษัทมีศักยภาพในการแยกเก็บก๊าซโดยแยกตามคุณภาพตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น และคาดว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการฝากสำรองก๊าซของบริษัทในปัจจุบันได้
ปัจจุบัน WP มีคลังเก็บและจ่ายก๊าซ ทั้งหมด 5 แห่งทั่วประเทศ ความจุรวม 18,341 ตัน ประกอบด้วย 1.คลังเก็บและจ่ายก๊าซบางปะกง (ฉะเชิงเทรา) ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ความจุ 13,015 ตัน 2.คลังเก็บและจ่ายก๊าซบางจะเกร็ง (สมุทรสงคราม) ครอบคลุมพื้นที่ภาคตกวันตกและภาคใต้ตอนบน ความจุ 1,800 ตัน 3.คลังเก็บและจ่ายก๊าซขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความจุ 1,980 ตัน 4.คลังเก็บและจ่ายก๊าซลำปาง ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ความจุ 186 ตัน และ 5.คลังเก็บและจ่ายก๊าซพิจิตร ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ความจุ 1,360 ตัน
นายนพวงศ์ กล่าวว่า ภายในปีนี้บริษัทยังมีแผนเปิดร้านอาหารภายใต้ชื่อ ร้านผัดไทไฟทะลุ หลังเข้าร่วมลงทุนกับ วันเดอร์ ฟู้ด คอมปานี โดยตั้งเป้าเปิด 3 สาขาแรก วางงบลงทุน 50-60 ล้านบาท มองว่าธุรกิจร้านอาหารจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะเข้าสนับสนุนปริมาณการใช้ LPG ให้เติบโตในปี 64 และอนาคตได้
พร้อมกันนี้ คาดว่าจะสามารถปิดดีลซื้อธุรกิจซ่อมถังก๊าซได้ภายในปีนี้ โดยสามารถรองรับการซ่อมราว 40,000 ใบ/เดือน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 60-70 ล้านบาท ซึ่งการเข้าซื้อธุรกิจดังกล่าวจะช่วยให้ต้นทุนการซ่อมถังลดลง จากเดิมที่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ที่ 60-70 ล้านบาท และยังสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพได้ด้วย
อีกทั้งยังมองโอกาสขยายธุรกิจคลังเก็บและจ่ายก๊าซไปในประเทศเมียนมา ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 63)
Tags: LPG, WP, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่, นพวงศ์ โอมาธิกุล, ผลประกอบการ