นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1-7 วันข้างหน้า คาดว่าในวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 2,200-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำ Sideflow ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ร่วมกับคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ จะทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทาน ทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60-0.70 เมตร
ซึ่งจะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย), วัดสิงห์ อำเภออินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี, วัดไชโย อำเภอไชโย จ.อ่างทอง, ตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา จ.ชัยนาท, วัดเสือข้าม อำเภออินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และอำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ
ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ และบริเวณจุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ และแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 67)
Tags: น้ำท่วม, น้ำล้นตลิ่ง, แม่น้ำเจ้าพระยา, ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์