ธุรกิจ Modern trade รับแรงสะเทือนเมื่อ Temu บุกไทย-กระแส ESG มีบทบาทมากขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองแนวโน้มอุตสาหกรรมร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของการบริโภคและภาคท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัว แม้ว่าภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางจากภาวะหนี้ภาคครัวเรือน โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 67 และต่อเนื่องมาในปี 68 ยังมีปัจจัยสนับสนุนมาจากนโยบายกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าธุรกิจ Modern trade จะเติบโตมาอยู่ที่ราว 2.58 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 3%YOY จากราว 3.4% ในปี 67

โดยนโยบายภาครัฐต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 67 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ที่เริ่มโครงการในปลายเดือนกันยายน 67 มาตรการลดค่าครองชีพ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ตลอดจนการคาดการณ์ของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่คาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันภายในปี 68 จะส่งผลให้ธุรกิจ Modern trade ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม Modern grocery ที่จำหน่ายสินค้าจำเป็น-ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐค่อนข้างมากโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับความช่วยเหลือก่อน ทั้งนี้คาดการณ์ว่ากลุ่ม Modern grocery จะมียอดขายเติบโตราว 4% ในปี 67 และเติบโตอีกราว 3% ในปี 68

สำหรับธุรกิจกลุ่ม Department store ในปี 68 คาดว่ายอดขายจะเติบโตที่ราว 3.6% จากในปี 67 ที่คาดว่าจะโต 3.5% โดยมีปัจจัยบวกจากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 ได้ในปี 68 ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายในห้างสรรพสินค้าให้ฟื้นตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 68 อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์กำลังซื้อที่ยังคงเปราะบางและฟื้นตัวได้อย่างจำกัด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น อีกทั้ง ยังมีปัจจัยฉุดรั้งสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคสู่ช่องทางออนไลน์ และแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากแผนเปิดตัวของโครงการ Commercial real estate ขนาดใหญ่หลายโครงการในระยะกลาง ซึ่งจะยิ่งทำให้ธุรกิจ Department store มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น

ในส่วนของร้านขายสินค้าเฉพาะทางอย่างสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม คาดว่ายอดขายมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าในกลุ่มสินค้าสุขภาพ อาทิ ยา วิตามินและอาหารเสริม

ขณะเดียวกัน เทรนด์ Travel retail เป็นอีกช่องทางที่เติบโตค่อนข้างดี เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหันมาจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามของไทยมีคุณภาพเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มสมุนไพรไทย เครื่องหอม ทั้งนี้คาดว่ามูลค่ายอดขายของร้านค้าปลีกกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามจะเติบโตราว 3.4% ในปี 67 และเติบโตราว 3% ในปี 68 อย่างไรก็ดี การแข่งขันในสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการเติบโตของการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Marketplace และ Social media ที่เอื้อให้มีผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาในตลาดมากขึ้น

มูลค่ายอดขายของร้านขายสินค้าเฉพาะทางในกลุ่มสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มเติบโตราว 2.1% ในปี 67 และ 3% ในปี 68 โดยร้านค้าปลีกกลุ่มนี้ยังเผชิญกับความท้าทายจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่หดตัวลง จากภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหากำลังซื้อและการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภค ส่งผลให้แนวโน้มการขยายสาขาจะยังเป็นไปอย่าง Selective มากขึ้น อย่างไรก็ดี กลุ่มสินค้าซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านได้รับปัจจัยหนุนจากตลาด Renovate ที่อยู่อาศัย โดยผู้ค้าปลีกยังเน้นการนำเสนอสินค้าและนวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมการให้บริการที่ครอบคลุม ทั้งการติดตั้งและการบริการหลังการขาย ในกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน อาจเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากร้านค้าออนไลน์ที่มีราคาถูกกว่ามาก ๆ ทำให้ต้องเน้นจุดขายเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ น่าเชื่อถือ และมีบริการหลังการขายที่ร้านค้าออนไลน์ให้ไม่ได้

ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กลุ่มสินค้าแฟชันคาดว่าจะมียอดขายเติบโตราว 3.6% ในปี 67 และ 3.4% ในปี 68 โดยธุรกิจกลุ่มนี้จะเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันจากช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้ยอดขายของสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่ากลุ่ม Fast fashion ยังเติบโตได้ดีกว่ากลุ่ม Traditional fashion เพราะสินค้ากลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยมได้อย่างรวดเร็วและสินค้ามีความหลากหลาย ขณะที่กลุ่ม Ttraditional fashion ยอดขายจะยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อน COVID-19 ส่วนกลุ่ม Sportwear และ Luxury fashion นั้นยอดขายกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 แล้วตั้งแต่ปี 2023 อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าไม่จำเป็นและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจกดดันให้ยอดขายสินค้าแฟชันเติบโตได้ไม่มากนัก

นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องจับตามองสำหรับธุรกิจค้าปลีกของไทยมาจากภาวะการแข่งขันในตลาด E-commerce ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีก Modern trade ที่มีหน้าร้านด้วย จากการเข้ามาแข่งขันของ Marketplace สัญชาติจีนอย่าง Temu ที่สามารถจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงให้กับผู้บริโภค ทำให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก ซึ่งจะเป็นคู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะกับร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าเกี่ยวกับบ้านและกลุ่มสินค้าแฟชัน ซึ่งสินค้ามีราคาไม่สูงและมีความหลากหลายส่งผลให้การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ แนวโน้ม ESG ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค อีกทั้ง ภาครัฐยังผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ โดยจะพบว่าธุรกิจค้าปลีกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Scope 3) มากที่สุด ซึ่งแม้ผู้ประกอบการค้าปลีกจะไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 ได้ แต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้มีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลากหลายช่องทาง อย่างเช่น การลดใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ส่งเสริม Circular economy และใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้ง Solar rooftop นอกจากนี้ ยังเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และเพิ่มสัดส่วนสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG

ขณะเดียวกัน อีกกลยุทธ์สำคัญในการปรับตัวให้สอดรับกับกระแส ESG ยังมาจากการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค จากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่าผู้บริโภคสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ราคาสินค้าที่สูงและตัวเลือกที่น้อยยังเป็นอุปสรรค ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% จากราคาสินค้าปกติสำหรับสินค้าที่มีความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ประเด็นราคาที่สูงกว่าราคาสินค้าทั่วไปยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสินค้ากลุ่มนี้ ธุรกิจค้าปลีกจึงควรปรับตัวโดยเน้นคุณภาพสินค้าควบคู่กับจุดขายด้านความยั่งยืน รวมถึงความร่วมมือกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top