กกร. ชู 6 เสนอเร่งแก้โจทย์พลังงาน สร้างเสถียรภาพ-ขีดความสามารถแข่งขัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า ขณะนี้สงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนยังดำเนินต่อไป ในขณะที่สงครามระหว่างอิหร่าน และอิสราเอลขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าระวางเรือได้

สำหรับราคาพลังงานขณะนี้ ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากที่ 70-80 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งยังพอรับได้ แต่ถ้าสงครามตะวันออกกลางขยายวงกว้างมากกว่านี้ จะทำให้ราคาน้ำมันอาจพุ่งไปทะลุ 100 เหรียญ/บาร์เรล เหมือนช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นอกจากนี้ สงครามยังส่งผลกระทบต่อโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผลกระทบต่อค่าระวางเรือ ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่ม โดยปกติแล้วตู้คอนเทนเนอร์จะอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 เหรียญ/ตู้ โดยปีนี้พุ่งไปถึง 12,000 เหรียญ/ตู้ แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ดีขึ้น ลดลงมาอยู่ที่ 8,000-9,000 เหรียญ/ตู้ แล้ว แต่ถ้าสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป อาจกลับไปที่ 12,000 เหรียญ/ตู้ ได้

อย่างไรก็ดี ในด้านการส่งออกต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ดัชนี PMI ของทั่วโลกหดตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของทุกประเทศลดลงด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการพิจารณาข้อเสนอต่อแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน โดยมี 6 ข้อเสนอ ดังนี้

1. การปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศไทย

2. การเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมร่วมกับแบตเตอรี่ (BESS) โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านควรลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานด้วยการเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานจาก OCA ไทย-กัมพูชา

3. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาจัดหาพลังงานทางเลือกใหม่ในสัดส่วนที่เหมาะสม อาทิ ไฮโดรเจน นิวเคลียร์ (SMR) การใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น

4. เร่งให้ความสำคัญการเปิดเสรีไฟฟ้า ในระยะเร่งด่วนควรเร่งการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ภายในปี 2569 และต้องมีการกำหนดแนวทางการเปิดเสรีอย่างเป็นรูปธรรมและกรอบเวลาชัดเจนใน PDP 2024 มีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และส่งเสริมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ตลอดจนมีระบบการจัดการแบตเตอรี่เก่าใช้แล้วอย่างครบวงจร

5. การพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยเทียบกับทางเลือกในการ Repowering หรือ Overhaul โรงไฟฟ้าเดิม และการกำหนดใช้เกณฑ์ดัชนีโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) ที่ควรมีการให้ข้อมูล Reserve Margin ควบคู่ไปด้วย

6. เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ซึ่งให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม ให้ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการด้านพลังงานของประเทศ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top