กกพ. ดีเดย์ประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 8 ต.ค.นี้

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ. กำหนดกรอบระยะเวลาและกระบวนการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้ประกาศ กกพ. เรื่อง รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) ตามมติ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 41/2567 (ครั้งที่ 926) เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ดังนี้

1. การไฟฟ้าออกประกาศกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน สถานที่ ระยะเวลา รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อไฟฟ้า วันที่ 8 ตุลาคม 2567

2. ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมยื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือกโครงการ จำนวน 2 ชุด (ต้นฉบับ 1 ชุด และสำเนา 1 ชุด) พร้อมวางหลักประกันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า (Proposal Bond) กำหนดกรอบระยะเวลา 30 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดตามกระบวนการที่ 1 ในเวลาทำการไม่เกิน 16.00 น.

3. การไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ กำหนดกรอบระยะเวลา 7 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดตามกระบวนการที่ 2

4. สำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก ภายใน 30 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดตามกระบวนการที่ 3

5. การไฟฟ้าแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม ที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 14 วัน นับถัดจากวันที่สำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อ ตามกระบวนการที่ 4

6. ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามกำหนดวัน SCOD ที่ได้รับการคัดเลือก ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ครบกำหนด กระบวนการที่ 5 (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2569) หรือภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ครบกำหนดกระบวนการที่ 5 (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2570 – 2573)

ภายใต้ประกาศดังกล่าว กกพ.กำหนดเงื่อนไขโดยจะให้สิทธิกับกลุ่มผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินนรอบแรก จำนวน 198 ราย ซึ่งได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว

สำหรับการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,180 เมกะวัตต์ จัดแบ่งสัดส่วนและลำดับการพิจารณาแต่ละประเภทโดยจะพิจารณาโครงการจากพลังงานลม ไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก ตามด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ เป็นลำดับที่สอง

นอกจากนี้ ยังระบุเงื่อนไขในการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นลำดับสุดท้าย และยินยอมปรับลดปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่ให้เกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามคำเสนอขายไฟฟ้าเดิม โดยที่ กกพ. ยังสามารถพิจารณาปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปีได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมด้านเทคนิค คำเสนอขายไฟฟ้า กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) และศักยภาพระบบไฟฟ้า โดยไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top