นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน คนที่สอง วุฒิสภา กล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ให้อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อขอความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาต่อปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีว่า
มีบางกระแสเรียกร้องให้นำญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างการลงมติในวาระรับหลักการมาพิจารณาในการประชุมดังกล่าว เพราะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนทางที่จะช่วยแก้วิกฤตในปัจจุบันได้ อีกทั้งเป็นภารกิจที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถทำได้ทันที ซึ่งต้องรอความชัดเจนเรื่องดังกล่าวหลังหารือร่วมกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภาอีกครั้งว่าจะพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากในหลักการของมาตรา 165 นั้นกำหนดไว้เฉพาะเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาและขอความเห็นเท่านั้น
นายวันชัย กล่าวว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเปิดสมัยวิสามัญนั้นเชื่อว่าทำได้ทันที โดยไม่รอผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ รัฐสภา ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ฯ เพราะเป็นเพียงการประกอบการตัดสินใจของสมาชิก และไม่ใช่สาระสำคัญ
“เท่าที่ฟังเสียงของ ส.ว.ตอนนี้ไม่มีใครขวางแล้ว และจะลงมติรับหลักการ ส.ว.ให้ผ่าน 84 เสียงได้แน่นอน และเข้าสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ความชัดเจนเรื่องดังกล่าวต้องรอการหารือร่วมกันทุกฝ่ายอีกครั้ง ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดค้านหรือไม่ของประชาชนที่ลงชื่อนั้น ต้องรอให้เสร็จหรือไม่ ผมไม่ทราบ”
นายวันชัย กล่าว
ส่วนข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น นายวันชัย กล่าวว่า ข้อเสนอและการอภิปรายสามารถทำได้ แต่การตัดสินใจลาออกหรือไม่นั้น ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตัดสินได้ เพราะไม่มีการลงมติ ดังนั้นควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นผู้พิจารณา ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ควรก้าวล่วง อย่างไรก็ตามในความตั้งใจของสมาชิกที่ต้องการแก้วิกฤตบ้านเมือง สิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำได้ คือ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 63)
Tags: กมธ., ชวน หลีกภัย, ชุมนุม, ประชุมสภา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ม็อบ, วันชัย สอนศิริ, วุฒิสภา, แก้ไขรัฐธรรมนูญ