นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ นับเป็นโครงการที่ ปตท.มุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยขับเคลื่อนการวิจัย และพัฒนานวัตกรรม ให้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จในระดับที่สามารถนำไปสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ตามแนวคิด Powering Thailand’s Transformation เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
ดังนั้น ปตท.จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค โดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่สำคัญของเทคโนโลยี 5G ในการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมต่างๆ
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. กล่าวว่า โครงการ 5G x UAV SANDBOX เป็นการเปิดพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนได้ทดสอบนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพความเร็วในการรับส่งข้อมูล เพื่อการตอบสนองที่ไวขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้นำศักยภาพของ 5G ไปทดลองใช้เป็น Use cases ต่าง ๆ รวมถึง UAV (Unmanned Aerial Vehicle) และการจัดการการบิน โดย ปตท. และพันธมิตรร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ได้แก่
กพท. สนับสนุนให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์สามารถบินโดรนเพื่อการทดลองและทดสอบได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยให้การอนุญาตปฏิบัติแตกต่างจากเงื่อนไขที่กำหนด , กสทช. บริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนการทดสอบ 5G ในพื้นที่ เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์ , สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้บริหารจัดการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้การสนับสนุนการดำเนินการ UAV Sandbox ได้อย่างสะดวกและประสบความสำเร็จ ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี ทักษะ ความรู้ด้านการบินโดรนแก่กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ
ขณะที่เอไอเอส ร่วมกับ VISTEC ทดสอบและ พัฒนาโดรนวิศวกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาสินทรัพย์ ส่วน TRUE ทดสอบและพัฒนาโดรนลาดตระเวนติดกล้องที่ควบคุมและเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True5G เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของพื้นที่ และดีแทค พัฒนาการทดสอบสู่กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G สำหรับควบคุมจากทางไกลและถ่ายทอดข้อมูลความละเอียดสูง ให้การสั่งการรวดเร็วและภาพที่คมชัด
ทั้งนี้ ปตท.ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาและใช้ระบบ Ecosystem ในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในการพัฒนาธุรกิจในระยะยาว
ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย, สมาร์ทวีซ่าสำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว, พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และศูนย์บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 63)
Tags: PTT, ปตท., วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต, อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์