บล.เอเชียพลัส ระบุว่า Google ประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (36,000 ล้านบาท) เพื่อสร้าง DATA CENTER และ CLOUD REGION ในกรุงเทพฯ และชลบุรี คาดจะช่วยจ้างงานในพื้นที่ได้อีกอย่างน้อย 14,000 ตำแหน่ง และมีส่วนต่อการเพิ่ม GDP ได้อย่างน้อย 140,000 ล้านบาท (ราว 0.9% ต่อ GDP ต่อปี) ในช่วงปี 2568-2572 ขณะที่การกระทำดังกล่าว จะช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้งาน Google Cloud และ นวัตกรรม AI อีกทั้งบริการต่างๆ ของ Google ซึ่งเป็นที่นิยม เช่น Google Search, Google Maps และ Google Workspace ที่องค์กรต่าง ๆ และคนไทยใช้ในชีวิตประจำวัน
ในเชิงของภาพรวม ถือเป็นมุมมองเชิงบวกต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าทั้งกลุ่ม เนื่องจากธุรกิจ DATA CENTER เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลจำเป็นต้องมีระบบไฟฟ้าสนับสนุนการทำงานตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการดำเนินงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการขยายธุรกิจ DATA CENTER อาจส่งผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนสำหรับธุรกิจ DATA CENTER เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยหนุนให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าดานการออกกฏระเบียบเพื่อส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด อาทิ การทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (DIRECT PPA), การขายไฟฟ้าสีเขียว (UTG), หรือการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆเพื่อเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นส่วนช่วยเพิ่มการเปิดกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดใหม่ๆเพิ่มขึ้นในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ายังมีโอกาสที่จะได้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในประเทศไทยเพื่อเตรียมรองรับความต้องกรารใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
หุ้นโรงไฟฟ้าที่คาดได้ประโยชน์ คือ GULF เนื่องจากบริษัทได้มีการประกาศลงนามสัญญาความร่วมมือกับบริษัท กูเกิ้ล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด (GOOGLE) เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการระบบ GOOGLE DISTRIBUTED CLOUD AIRGAPPED (GDC AIR-GAPPED) ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ไร้ ซึ่งการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสาธารณะโดยสิ้นเชิง ซึ่งมีจุดเด่นด้านความเสถียรภาพ และมีความปลอดภัยสูง เหมาะแก่การใช้สำหรับองค์กรในประเทศไทย โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีความสำคัญ หรือเป็นความลับ เช่น การให้บริการทางการแพทย์ พลังงานและสาธารณูปโภค หรือการให้บริการด้านความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น
ทั้งนี้ GULF จะเป็นผู้ดำเนินงานในฐานะ MANAGED GDC PROVIDER ผ่านการให้คำปรึกษาและบริการจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการจัดการ ดูแลระบบอย่างครบวงจร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของ GULF ในการรองรับความต้องการพื้นที่จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยต่อยอดในธุรกิจไฟฟ้าของ GULF ได้ในอนาคต
และหุ้นโรงไฟฟ้าอื่นๆ มีโอกาสเห็นการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่าง BGRIM GPSC WHAUP เป็นต้น
ส่วนต่อมา กลุ่มนิคม AMATA และ WHA มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับ DATA CENTER โดยประเมินว่า WHA มีโอกาสได้คว้างานมากกว่า AMATA เนื่องจากฐานลูกค้าของ WHA เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม NEW ECONOMY ประกอบกับ WHA มีการพัฒนาบริษัทให้มีความเป็น TECH COMPANY ตามด้วยหุ้นกลุ่มสื่อสารขนาดใหญ่อย่าง ADVANC,TRUE ที่แม้ทาง GOOGLE จะมีการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เอง แต่ยังจำเป็นที่จะต้องมีการเชื่อมต่อกับลูกค้าเป้าหมายที่จะต้องอาศัยโครงข่ายพื้นฐาน เช่น เส้นใยแก้วนำแสง ซึ่งมีโอกาสที่ GOOGLE จะเลือกใช้บริการดังกล่าว จากกลุ่ม ADVANC หรือ TRUE
ส่วนหุ้นกลุ่มรับเหมาสื่อสารมีธุรกิจเกี่ยวกับ DATA CENTER และ CLOUD SERVICE ก็คาดได้ประโยชน์เช่นกัน อาทิ AIT, INSET, ITEL ฯลฯ
ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองเป็นบวกต่อเป็นบวกต่อการยกระดับอุตสาหกรรม Data Center/Cloud ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุนมาโดยตลอด โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ เช่น กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตจากการขยายบริการด้าน Data Center/Cloud (GULF ADVANC TRUE) กลุ่มนิคมที่มีโอกาสเป้าหมายตั้ง DATA CENTER (WHA AMATA) กลุ่มที่ Tech Consult (BBIK BE8) เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ต.ค. 67)
Tags: การลงทุน, หุ้นกลุ่มนิคม, หุ้นกลุ่มรับเหมาสื่อสาร, หุ้นโรงไฟฟ้า, หุ้นไทย, เอเชียพลัส