กทพ.เล็งเปิดประมูล PPP ทางด่วน”ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ”ปี 68 มูลค่า 2.07 หมื่นลบ.สร้างเสร็จปี 73

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจการเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์–ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ที่ผ่านมา กทพ.และที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวทางการศึกษาและขั้นตอนการศึกษาที่สำคัญรวมทั้งนำเสนอแนวเส้นทางของโครงการพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนในการรวบรวมความเห็นและสรุปผลการศึกษา เพื่อนำเสนอขออนุมัติตามขั้นตอน คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายในปี 67 จากนั้นจะขออนุมัติรายงาน EIA ในปี 68 และเสนอโครงการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (PPP) และเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนในปี 68-70 จัดกรรมสิทธิ์ระหว่างปี 69-71 ก่อสร้างได้ในปี 70 ใช้เวลา 3 ปีคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี73

สำหรับมูลค่าการลงทุนของโครงการ รวมทั้งหมดประมาณ 20,710 ล้านบาท ประกอบด้วย ราคาก่อสร้างเบื้องต้น 19,145 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 840 ล้านบาท ค่าออกแบบ ค่าควบคุมงาน และค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างก่อสร้าง ประมาณ 725 ล้านบาทโดยคาดการณ์ปริมาณจราจรในปีเปิดให้บริการ (73 ) ประมาณ 68,000 คัน/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 คัน/วันในปีที่ 30 คาดรายได้ 3,000 ล้านบาท/ปี อัตราค่าผ่านทาง รถยนต์ 4 ล้อ 60 บาท รถ 6-10 ล้อ อัตรา 90 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ อัตรา 120 บาท ปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ ปรับขึ้น 5 บาท รถมากกว่า 6 ล้อ ปรับขึ้น 10 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ ปรับขึ้น 15 บาท

ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจของโครงการ มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 6,169.75 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 14.35 อัตราส่วนแบ่งผลประโยชน์ต่อทุน (B/C) 1.52 เท่ากำหนดอัตราค่าผ่านทาง ที่ 60 บาท

สำหรับ โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์–ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร (กม.) จุดเริ่มต้นเป็นทางยกระดับ 2 ฝั่งแบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) เมื่อผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เป็นระยะทางประมาณ 8.95 กม. ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า และเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นเส้นทางหลักลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

โดยมีการกำหนดจุดเข้า-ออกโครงการทั้งหมด 3 จุด ประกอบด้วย

1.จุดเริ่มต้นโครงการ (ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) โดยมีทางขึ้น-ลง 4 ทิศทาง ได้แก่ (1) ทางลง Loop Ramp สำหรับรถที่มาจากลาดกระบังมุ่งหน้าไปรามคำแหง เพื่อเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (2) ทางขึ้น Loop Ramp สำหรับรถที่มาจากพัฒนาการมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการในทิศขาออกเมือง (3) ทางลง Directional Ramp สำหรับรถที่มาจากลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมถนนศรีนครินทร์ (4) ทางขึ้น Directional Ramp สำหรับรถที่มาจากรามคำแหงมุ่งหน้าไปลาดกระบัง เลี้ยวซ้ายเข้าเชื่อมทางพิเศษของโครงการ ในทิศขาออกเมือง

2.ทางเชื่อมเข้า – ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงสร้างจะแยกออกจากเส้นทางหลัก โดยมีทางเลี้ยวรูปแบบ Semi Directional Ramp ในทิศทางเลี้ยวขวาเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนทิศทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเลี้ยวซ้ายเข้าสู่โครงการไปทางพระราม 9 เป็นทางเลี้ยวรูปแบบ Directional Ramp ซึ่งในบริเวณนี้จะมีการเวนคืนพื้นที่ทั้ง 2 ข้างทาง เพื่อก่อสร้างทางเชื่อมเข้า – ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

และ3. จุดสิ้นสุดโครงการ (ตำแหน่งทางขึ้น – ลงลาดกระบัง) เมื่อผ่านจุดเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แนวเส้นทางจะข้ามทางเข้า – ออก ICD ลาดกระบัง ก่อนจะกดระดับลงพื้น และผ่านด้านข้างของสะพานกลับรถเดิมก่อนจะเข้าเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อปรับทางบริการเดิมให้ขนานกับทางขึ้น – ลงของโครงการ รวมถึงออกแบบทางแยกในการเชื่อมต่อระหว่างทางขึ้น – ลง ของโครงการและทางบริการให้ผู้ใช้ทางและประชาชนโดยรอบสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และถนนฉลองกรุง สามารถเข้า – ออก โครงการได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top