SCB EIC คาดค่าไฟปี 68 ใกล้เคียงปีนี้ที่ 4.1-4.2 บาท/หน่วย ก่อนทยอยลดลง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยปี 68-71 ยังคงเติบโตตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มของการผลิตไฟฟ้านอกระบบทยอยเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้คาดว่าการใช้ไฟฟ้าทั้งในและนอกระบบการไฟฟ้าจะขยายตัว 2.5%YOY ในปี 2568 และ 3.0% (CAGR) ในปี 2569-2571 จากการส่งเสริม Direct PPA/IPS ที่มากขึ้น

ขณะที่ค่าไฟฟ้าปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2567 ที่ 4.1-4.2 บาท/หน่วย จากนโยบายลดค่าพลังงานของรัฐบาล ลดค่าครองชีพและค่าพลังงานของรัฐบาลที่คาดว่าจะตรึงค่าไฟฟ้าให้ใกล้เคียงกับปี 2024 และไม่เกิน 4.18 บาท/หน่วย, ประมาณการต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศ (Pool gas) อยู่ในช่วง 310-320 บาทต่อ MMBTU และภาครัฐสามารถทยอยคืนต้นทุนค้างชำระ (AF) แก่ กฟผ. และ ปตท. ได้ที่ 5-20 สตางค์ต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐเร่งคืนต้นทุนค่าไฟฟ้าค้างชำระ (AF) ค่า Ft ในปี 2568 โดยกำหนดให้ชำระคืนต้นทุนค่าไฟฟ้าค้างชำระ (AF) มูลค่า ที่ 25-50 (worst case) สตางค์/หน่วย ส่วนค่าต้นทุนเชื้อเพลิง (FAC) จะเฉลี่ยทั้งปีราว 25 สตางค์ต่อหน่วย โดยคาดว่าในงวดแรกจะสูงที่สุดราว 40 สตางค์/หน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ค่าเฉลี่ยที่ราว 4.28-4.38 บาท/หน่วย

ส่วนในปี 2569-2571 คาดว่าค่าไฟฟ้าจะทยอยลดลงและต่ำกว่า 4 บาท/หน่วยในปี 2571 จากราคาก๊าซธรรมชาติโลกที่ลดลง ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลจะมีแรงกดดันที่มากขึ้นจากการลดสัดส่วนการผลิตในระยะยาวตามร่างแผน PDP 2567 ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของโรงไฟฟ้าในกลุ่มที่ใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำหรือมีการปล่อย GHG สูง และจะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากการนำเชื้อเพลิงสะอาดทดแทนอย่างไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำเข้ามาเป็นเชื้อเพลิง

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2568 ในไทยยังมีแนวโน้มเติบโต โดยจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 5%YOY และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องโดยเฉลี่ยที่ 7% (CAGR) ในปี 2569-2571 จากทั้งแผน COD จาก RE ที่ทยอยเข้าระบบราว 700-1,000 MW ต่อปี โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล และขยะชุมชน รวมถึงความต้องการไฟฟ้านอกระบบ (IPS/SPP direct) และ Private PPA ที่หนุนให้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดยแนวโน้มในระยะข้างหน้าจนถึงปี 2573 ยังเติบโตต่อเนื่อง จากการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 3,731 MW โดยส่วนใหญ่จะเป็นไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากแผน PDP 2567 ที่เพิ่มสัดส่วน RE มากกว่า 51% ภายในปี 2580 โดยจะมีกำหนด COD ราว 3,700 MW ภายในปี 2573 และมีมากกว่า 31,000 MW ที่จะทยอย COD ตั้งแต่ 2574-2580 ยิ่งไปกว่านั้น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกก็มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะทวีปเอเชียและออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามจากการที่จะมี Adder กว่า 2,000 MW ที่จะทยอยครบกำหนดมากกว่า 50% ในปี 2567-2568 ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของโรงไฟฟ้า RE ในกลุ่ม Solar และ Wind ที่มีรายได้อิงกับ Adder

ความต้องการแผงโซลาร์ยังคงเติบโตได้ดีในปี 2568 แต่ในอัตราที่ชะลอลง และคาดว่าจะชะลอลงต่อเนื่องไปถึงในช่วงปี 2569-2571 เนื่องจากตลาดจีนและตลาดยุโรปที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของตลาดมีอัตราเติบโตของความต้องการแผงโซลาร์ที่ชะลอตัวลงจากที่เคยเติบโตสูงในช่วงปี 2562-2566 อย่างไรก็ตาม ความต้องการแผงจะขยายตัวราว 9% ในปี 2568 และกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นยังถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก 1. ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีมากขึ้นตาม Net zero pathway ของหลายประเทศ และ 2. ราคาของแผงโซลาร์และราคาแบตเตอรี่ที่ทยอยลดลงจะหนุนให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลดลงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ความเสี่ยงที่ต้องจับตาในระยะข้างหน้า คือ สถานการณ์ Oversupply ของแผงโซลาร์ตลอดทั้ง Value chain ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มราคาในปี 2568 ที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะจาก 1) อุปทานที่ล้นตลาดของแผงโซลาร์โดยเฉพาะในประเทศจีน 2) การแข่งขันของผู้ผลิต Module ที่รุนแรงมากขึ้น และ 3) เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไวจนผู้ผลิตต้องขายสินค้าที่ค้างสต็อกในราคาส่วนลด และคาดการณ์ว่าภาวะนี้จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่องไปในปี 2568 นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่มากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ และความเสี่ยงของผู้ประกอบการจากการแข่งขันในด้านราคาซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลง

ESG เป็นประเด็นสำคัญที่เร่งให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าถูกผลักดันให้ปรับตัว จากเป้าหมาย Carbon neutrality และ Net zero emission ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ที่กดดันให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนสูงต้องเร่งศึกษาและนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดคาร์บอนมาใช้ เช่น ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ, CCS และเร่งเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าบางชนิดก็เริ่มได้รับผลกระทบจาก Climate change ที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าลดลง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ (Hydro) ที่ลดลงจากสถานการณ์ El Nino เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top