ก.ล.ต.-ตลท.คาดเคาะเกณฑ์ให้ผู้บริหาร-ผถห.ใหญ่กางข้อมูลนำหุ้นไปจำนำนอกระบบภายในปี 68

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาการออกหลักเกณฑ์ใหม่ ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งที่เป็นผู้บริหารและไม่เป็นผู้บริหาร เปิดเผยรายงานกรณีการนำหุ้นของบริษัทไปวางเป็นหลักประกันการกู้ยืม โดยเฉพาะการนำไปวางไว้กับ Custodian ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดการรายงาน รวมไปถึงช่องทางการเปิดเผยข้อมูลได้ภายในปี 67 คาดจะออกหลักเกณฑ์และบังคับใช้ได้ภายในปี 68

ปัจจุบันการนำหุ้นไปวางไว้เป็นหลักประกันไว้กับ Custodian ไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลในระบบของ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (TSD) และไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถรู้ข้อมูลได้เลยว่าผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนนำหุ้นไปวางไว้ที่ไหนบ้าง และเมื่อเกิดกรณีหุ้นหายจาก Custodian เพราะผู้ให้กู้นำหุ้นไปขาย จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ลงทุนตามมา และผลกระทบยังเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นด้วย เนื่องจากผู้ให้กู้สามารถสั่งขายหลักทรัพย์ได้เมื่อเกิด Trigger Event ตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา

“มีโอกาสน้อยมากที่เราจะรู้ว่าผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้น มีการนำหุ้นไปจำนำนอกระบบ ซึ่งเราก็อยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้มีการเปิดเผยหรือรายงานการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันนอกระบบ เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบ และใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในหุ้นนั้นๆ” นายเอนก กล่าว

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและหน้าหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ลักษณะของธุรกรรมของการนำหลักทรัพย์ไปวางเป็นหลักประกันมีหลากหลาย ประกอบด้วย

1. การกู้ยืมกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ (Margin Loan) โดยผู้ถือหลักทรัพย์ตกลงให้บล.บันทึกข้อมูลการใช้หุ้นเป็นหลักประกัน ซึ่งบล.จะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ม.195 กฎหมายหลักทรัพย์) ได้แก่ บล.ต้องจัดให้มีบัญชีหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นประกันแยกต่างหากตามแบบที่ ตลท.กำหนด , บล.ต้องรักษาหลักทรัพย์ให้ตรงตามประเภท ชนิด และจำนวน ตลอดเวลา

2.การกู้ยืม/ขอวงเงินกับ Credit Provider (Lender) หรือ การจำนำหุ้น แบ่งเป็น การบันทึกข้อมูลหลักประกันผ่านสมาชิก TSD (เช่น บล.) โดยผู้ถือหลักทรัพย์ (ผู้กู้) ตกลงให้ บล.บันทึกการใช้หุ้นเป็นหลักประกัน หรือตกลงให้ผู้ให้กู้ยึดถือหุ้นไว้เป็นหลักประกัน

3.ไม่บันทึกข้อมูลหลักประกันในระบบของ TSD โดยถือหลักทรัพย์ (ผู้กู้) นำหุ้นไปวางเป็นหลักประกัน , ตกลงให้ผู้ให้กู้ยึดถือหุ้นไว้เป็นหลักประกันกับ Custodian ในประเทศ หรือ ต่างประเทศ ซึ่งผู้ให้กู้สามารถสั่งขายหุ้นได้เมื่อเกิด Trigger Event ตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top