รมว.แรงงาน ออกโรงขอโทษขึ้นค่าแรง 400 บาทไม่ทัน 1 ต.ค.นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ยอมรับว่า ไม่สามารถประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันนี้ได้ ซึ่งย่อมมีผลทำให้ไม่สามารถดำเนินการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.67 นี้ พร้อมยืนยันว่า ไม่เคยเหนี่ยวรั้งดึงเวลา เพราะไม่สามารถบังคับหรือกดดันได้ เพราะกฎเกณฑ์บอกแล้วว่า การเมืองเข้าไปยุ่งเรื่องของคณะกรรมการค่าจ้างไม่ได้

ล่าสุดนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มีหนังสือไปขอความชัดเจนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อกรณีที่หนึ่งในกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นตัวแทนจาก ธปท.นั้น ได้เกษียณอายุไปแล้วเกือบ 1 ปี ว่า ธปท.จะมีข้อสรุปในประเด็นนี้อย่างไร เพื่อที่คณะกรรมการค่าจ้าง จะได้เดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างคนปัจจุบัน กำลังจะเกษียณอายุในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จึงมีความจำเป็นต้องรอปลัดกระทรวงฯ คนใหม่มาพิจารณา

ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง จะต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายราชการ ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน ซึ่งฝ่ายราชการ ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน 2 คน และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งต้องใช้เสียงโหวต 2 ใน 3 จึงจะสามารถลงมติได้

“ดังนั้น เมื่อการประชุมในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ไม่สามารถเปิดประชุมได้ ผมก็ต้องขออภัย ที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ต.ค.นี้ได้ ผมยืนยันว่า จะเดินหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงแม้ว่ารัฐบาลท่านนายกฯ แพรทองธาร ชินวัตร จะไม่ได้ประกาศเป็นนโยบาย เพราะตระหนักดีถึงความลำบากของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน” รมว.แรงงาน กล่าว

พร้อมระบุว่า ไม่อยากเห็นการกดค่าจ้างให้ต่ำเกินไป ในขณะที่ค่าครองชีพกำลังพุ่งสูง ซึ่งเป็นเวลา 12 ปีแล้ว หลังจากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ นัตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ค่าจ้างยังขึ้นรวมกันไม่ถึง 100 บาท หรือขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 8 บาทเท่านั้น

“ผมเข้าใจท่านปลัดกระทรวงแรงงานดี ที่ท่านพยายามทำทุกสิ่ง เพื่อดำเนินการจัดประชุมให้ได้ ผมเองต้องขออภัย ที่ยังไม่สามารถทำตามที่ได้ประกาศไว้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ตุลาคมนี้ได้ เรายังจำเป็นต้องรอคำตอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย เราต้องรอท่านปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ เราต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อคนไทยได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น” นายพิพัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้จะให้นายไพโรจน์ ประสานไปยังผู้แทนของธปท. หากตอบรับจะมาประชุม เราก็จะจัดประชุมภายในสัปดาห์นี้ การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างถือเป็นการประชุมที่สำคัญที่สุด เราจะขอให้มีองค์ประชุมที่ครบ ที่สำคัญกว่านั้นคือ หากสัปดาห์นี้ยังไม่ชัดเจน ก็จะมีโอกาสจัดประชุมอีกครั้งคือวันที่ 30 ก.ย.67 จะพยายามจัดประชุมให้เสร็จก่อนที่นายไพโรจน์จะเกษียณ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top