เอกชนผนึกกำลังกดดัน กนง.ลดดอกเบี้ยแก้บาทแข็งค่าเร็วแรง 10% ใน 3 เดือน มองจุดเหมาะสม 34 บาท

หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมภาคเอกชน ตั้งโต๊ะแถลงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย โดยขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น 8-10 % อย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00 บาท (+-) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร/อาหารไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท

และเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะสูงขึ้นตาม ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นจุดหมายที่มีราคาสูง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะรู้สึกว่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติและอาจจะเลือกไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าและคุ้มค่ามากกว่านั้น

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 1% ต่อปี กระทบรายได้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ GDP ปกติ ดังนั้นค่าเงินบาทที่ผันผวนในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกทันที โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หรือ Local Content อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร

การที่ค่าเงินบาทผันผวนจะส่งผลกระทบใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1.ขีดความสามารถในการแข่งขัน ค่าเงินบาทที่ผันผวนจะทำให้ลดขีดความสามารถในการส่งออกเป็นมาก โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและประมงจะปรับสูงขึ้นทันที 10% ส่งผลให้ผู้ผลิตและแปรรูปในไทยอาจต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม ซึ่งทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากผู้ซื้อจะหันไปหาสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า

2.การวางแผนการผลิตและการตลาด หากค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตและแปรรูปอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือการผลิตได้ทันเวลา ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.ความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงทางธุรกิจส่งออกเนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน ความผันผวนของค่าเงินสร้างความไม่แน่นอนในตลาด การลงทุนและการวางแผนธุรกิจจะยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด ส่งผลให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในอุตสาหกรรมของไทยอย่างเหมาะสม

ดังนั้น หอการค้าฯ จึงขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกปัจจุบัน เพื่อหาจุดแข็งและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตนเอง ตลอดจนการสร้างความยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้า โดยมีภาครัฐเป็น Facilitator และต้องหารือร่วมกับเอกชนอย่างต่อเนื่องขณะเดียวกัน โดยมองค่าเงินบาทในระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ บวก/ลบ

นอกจากนี้ หอการค้าฯ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูก ไม่มีคุณภาพที่ไหลทะลักเข้ามาในประเทศ สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคและส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยส่วนนี้ได้มีการหารือและอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยในการติดตามดูแลสินค้าไทย-จีน และจัดทำโครงสร้างการค้าที่เป็นธรรมทั้ง 2 ประเทศ เป็นต้น

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว-แรงที่ 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00% นั้น หอการค้าฯ เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าที่ราว 33 บาท/ดอลลาร์นี้ มีผลต่อรายได้จากการส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารหายไปแล้วราว 50,000 ล้านบาท หากเงินบาทยังแข็งค่าอยู่ในระดับนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ส่งออกโดยรวมของไทยปีนี้อาจหายไปถึง 1.3-1.4 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่จะเข้ามาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ช่วงปลายปีเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากเงินที่จะเข้ามาจากรายได้ของภาคส่งออกและท่องเที่ยว ดังนั้นคงต้องอยู่ที่การตัดสินใจของ กนง. ในการพิจารณาเลือกใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

สำหรับความกังวลของภาคเอกชนในการติดตามอัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ประมาณ 21,577 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.12% ของ GDP (ข้อมูล ณ 18 ก.ย. 67) (สมมติให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายภายใน 15 วัน)

ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 18,226 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 3,260 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 91 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในหลายจังหวัดเริ่มคลี่คลายจากระดับน้ำที่ลดลง ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญทันทีหลังสถานการณ์ระดับน้ำลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติ คือ การช่วยเหลือ ซ่อมแซม และฟื้นฟู ให้ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งหอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ เร่งจัดมาตรการทางการเงินช่วยเหลือเช่น การพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือแม้แต่ Soft Loan เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว

โดยหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 กรณีนับรวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วง Q4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.8-4.3% โดยทั้งปีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% และทำให้ภาพรวม GDP ในปีนี้เติบโตจากเดิมที่คาดไว้ 2.5% เป็น 2.6-2.8%

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า อยากเห็น ธปท. และกระทรวงการคลัง จับเข่าคุยกัน เพราะเชื่อว่าทั้ง 2 หน่วยงานจะมีข้อมูลในเชิงลึกที่ใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินมาตรการ และควรออกมาเป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อจะให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

“เรามีจุดยืนที่จะให้ ธปท. และกระทรวงคลังไปคุยกัน สิ่งที่เราออกมาแสดงความคิดเห็นในวันนี้ ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เราเชื่อว่า กนง.มีข้อมูลที่ดี…เราคงไม่พลาดเหมือนกับในช่วงต้มยำกุ้ง” นายสนั่นระบุ

ทั้งนี้ ภาคเอกชนในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมจะยื่นสมุดปกขาวให้กับนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นข้อเสนอของภาคเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงเสนอเป็นมาตรการคล้ายกับ E-receipt ที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ รวมทั้งจะขอเข้าพบ รมว.คลัง และผู้ว่าฯ ธปท. เพื่อหารือถึงมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น การแก้หนี้

นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าว่า ผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบด้านราคาที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญได้ เนื่องจากเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมากถึง 10% ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งแข็งค่ากว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ซึ่งทุก 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาข้าว FOB เพิ่มขึ้นถึง 15 ดอลลาร์/ตัน

ทั้งนี้ แม้ประเทศอินเดียยังไม่เปิดส่งออกข้าวในปีนี้ แต่ปีหน้าอินเดียจะเริ่มกลับมาส่งออกข้าวได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณข้าวเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ล้านตัน มีผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกอาจจะอ่อนตัวลง ประกอบกับการที่ค่าเงินของอินเดียอ่อนค่า ก็จะยิ่งให้ข้าวอินเดียสามารถแข่งขันด้านราคาได้ดีกว่าข้าวไทย ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากสำหรับการส่งออกข้าวไทยในปีหน้า

“เงินบาทแข็งค่าไปกว่า 10% แต่เวียดนาม แข็งค่า 3.7% ปากีสถาน แข็งค่าเพียง 1% ในขณะที่อินเดีย ค่าเงินอ่อนค่า 0.6%…ปีนี้ ขนาดยังไม่มีคู่แข่งจากอินเดีย ไทยก็ยังจะแย่ เพราะบาทแข็ง แต่ถ้าปีหน้าอินเดียวกลับมาส่งออกข้าวได้ตามปกติ ในขณะที่ค่าเงินของเขาอ่อน เราห่วงว่าจะหนักหนามากในปีหน้า แม้ปีนี้ เราจะส่งออกได้ตามเป้า แต่ก็ยอมรับว่าเหนื่อย” นางกอบสุข กล่าว

อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้ อาจจะทำได้ถึง 9 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8-8.5 ล้านตัน

ด้านนายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า แม้การแข็งค่าของเงินบาทในปีนี้ จะยังส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มากนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีแผนการเดินทางล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ในระยะต่อไปจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยในปีหน้า ซึ่งจะกระทบต่อรายรับจากการท่องเที่ยว อีกทั้งปัจจุบันการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเป็นรูปแบบของการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ซึ่งจะมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวให้ลดปริมาณลง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝาก เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 67)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top