ไม่ว่านานเท่าไหร่ “เหรียญมีม” เหรียญที่ไม่มีพื้นฐานมารองรับ ก็ยังคงเป็นเหรียญที่ขับเคลื่อนวงการคริปโทเคอร์เรนซีอยู่เสมอ อย่างล่าสุดเหรียญหมูเด้ง (MOODENG) บน Solana Chain ที่มีนักลงทุนเข้าไปเทรด ทำกำไรได้ 500 เท่า แต่เหรียญมีมก็คือเหรียญมีมวันยังค่ำ นักลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจก่อนคิดเทรด!!
*นี่มันระดับโลก!!! น้องหมูเด้งถูกเอามาทำเป็นเหรียญมีมบน Solana!!
นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “น้องหมูเด้ง” เจ้าฮิปโปแคระแสนน่ารักที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรี ที่มีคนชื่นชอบจนกลายเป็นดาวดังในโลกโซเชียล และดังไปทั่วโลก แถมยังดังไปถึง Solana Chain เพราะมีคนสร้างเหรียญมีมน้องหมูเด้ง (MOODENG) แล้วก็มีคนเข้าไปเทรด ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดที่ Arkham ได้มีการเปิดเผยว่ามีนักลงทุนที่เทรดเหรียญน้องหมูเด้ง เริ่มลงทุนที่ 800 ดอลลาร์ จนตอนนี้ได้มา 400,000 ดอลลาร์ในเวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ กำไรกว่า 500 เท่าเลยทีเดียว
ต้องย้ำกันอีกครั้ง!! เหรียญมีมคือเหรียญที่ไม่มีพื้นฐานรองรับ เป็นเหรียญที่ขึ้นลงตามกระแสและสังคม หากดูราคาเหรียญหมูเด้งตอนนี้จะเห็นว่าร่วงลงเร็วมาก สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเทรดเหรียญมีม ควรระมัดระวังให้มาก
*Vitalik ผู้สร้าง Ethereum ร้องเพลงกลางเวที Token2049!!
เป็นที่ฮือฮาเมื่อ Vitalik Buterin หนึ่งในผู้สร้าง Ethereum เหรียญที่มี Market cap มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากบิทคอยน์ ได้ขึ้นไปร้องเพลงกลางเวที Token2049 ที่สิงคโปร์ เมื่อวานนี้ (18 ก.ย.2567)
บนเวที Vitalik ยังได้พูดถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีในปัจจุบัน และการปรับลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมภายในระบบนิเวศของ Ethereum อย่างมีนัยยะสำคัญ
แต่ประเด็นที่ทุกคนกลับให้ความสนใจคือการที่ Vitalik ร้องเพลงบนเวที เป็นที่พูดถึงกันขำขันว่าเราจะไว้ใจคนอย่างนี้ได้ไหม?
*สุดงง!! ชาวนอร์เวย์ร้องเรียนปิดเหมืองบิทคอยน์สำเร็จ แต่กลายเป็นต้องมาจ่ายค่าไฟเพิ่มแทนซะงั้น!!
เหมือนจะมีเรื่องแล้วเมื่อชาวเมือง Hadsel ในประเทศนอร์เวย์ ที่มีการเรียกร้องให้ปิดเหมืองขุดบิทคอยน์มายาวนาน เนื่องจากเสียงรบกวน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการร้องเรียนครั้งนี้ จนทางเทศบาลได้มีการสั่งปิดเหมืองตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา
แต่การปิดเหมืองครั้งนี้ ส่งผลโดยตรงต่อค่าไฟของครัวเรือน เพราะการที่เหมืองปิด ทำให้รายได้ของบริษัทจัดจำหน่ายไฟฟ้า Noranett ลดลงทันที เนื่องจากเหมืองดังกล่าวมีการใช้ไฟมากเทียบเท่ากับ 3,200 ครัวเรือนต่อปี ทำให้ผลกระทบนี้ตกมายังคนในเมืองที่ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มกว่า 280 ดอลลาร์ต่อปี
บางทีการปิดเหมืองที่หยุดปัญหามลพิษทางเสียง ก็อาจเป็นต้นเหตุของอีกปัญหาหนึ่งก็เป็นได้..
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)
Tags: Cryptocurrency, CryptoShot, SCOOP, คริปโทเคอร์เรนซี, สินทรัพย์ดิจิทัล