TTB คาดรายได้ธุรกิจโรงแรมปี 67 โตแตะ 3.7 แสนลบ. กระจุกตัวเฉพาะรายใหญ่

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ชี้รายได้ธุรกิจโรงแรมเติบโตแบบไม่เท่าเทียม ส่วนใหญ่กระจุกตัวในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ในเมืองหลัก รายได้ไม่ได้กระจายไปยังเมืองรองเท่าที่ควร แนะรัฐยกระดับนโยบายกระตุ้นเที่ยวเมืองรองให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดข้อจำกัดและเพดานการใช้มาตรการ พร้อมแนวทางช่วยเหลือยกระดับผู้ประกอบ SMEs

 

ttb analytics มองว่า ธุรกิจโรงแรมในปี 67 นับเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สูงที่สุด ส่งผลให้ขนาดธุรกิจหดตัวลงจากจุดสูงสุดเดิมกว่า 65% ในปี 64 (2.87 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 1.01 แสนล้านบาท) แต่ธุรกิจมีสัญญาณกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยในปี 65 อุตสาหกรรมโรงแรมฟื้นตัวได้เกินกว่า 70% และด้วยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวในปี 66 ทำให้ตัวเลขจากภาคท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หนุนแรงส่งอุปสงค์ภาคโรงแรม บนข้อจำกัดด้านอุปทานที่ไม่สามารถเพิ่มได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองอุปสงค์ ส่งผลให้ราคาห้องพักในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของภาคโรงแรมสามารถก้าวผ่านจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 3.28 แสนล้านบาท

สำหรับในปี 67 ด้วยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่ามากกว่า 35 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่สร้างประวัติศาสตร์ต่อเนื่องจำนวน 320 ล้านคน-ครั้งแล้ว พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงบนโครงสร้างประชากรที่กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน เฉพาะแค่ในกลุ่ม Gen X และ Gen Y ครอบคลุมแล้วกว่า 70.5% ของกลุ่มประชากรที่เป็นอุปสงค์การท่องเที่ยว ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมด้านการเงินเพียงพอในการตอบโจทย์ด้านการหาความสะดวกสบายในการท่องเที่ยว ทำให้ความเต็มใจจ่ายต่อทริปเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อการเลือกโรงแรมสามารถตอบโจทย์ และได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

โดยแรงส่งดังกล่าว สามารถขยับรายได้ของธุรกิจโรงแรม เพิ่มเป็น 3.70 แสนล้าน (รายได้ธุรกิจโรงแรมประเมินจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และประเมินผ่าน Potential Income ของจำนวนโรงแรมที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) อย่างไรก็ตาม การเติบโตในเชิงของรายได้ในธุรกิจโรงแรมยังแฝงไว้ด้วยความเปราะบางสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย

1. การกระจายรายได้ที่ไม่สมมาตร ระหว่างผู้ประกอบการรายเล็ก และรายใหญ่ โดยในปี 62 สัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงแรมระหว่างผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และรายใหญ่ มีขนาดใกล้เคียงกันในอัตราส่วน 45 : 55 แต่หลังจากการฟื้นตัวในปี 66 อัตราส่วนกลับเปลี่ยนไปอยู่ที่ 37 : 63 บนความเป็นไปได้ที่สัดส่วนรายได้ของผู้ประกอบการ SMEs จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น

– ความได้เปรียบด้านต้นทุนในการบริการ (Economy of Scale) ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีอัตราส่วนต้นทุนห้องพักต่อลูกค้าหนึ่งรายมีราคาขายต่ำกว่า

– ความได้เปรียบจากบริการที่หลากหลาย (Economy of Scope) เนื่องจากในโรงแรมขนาดใหญ่มีการบริการที่ครบวงจร (Full Services) ตอบสนองกลยุทธ์ในรูปแบบ On Demand ที่มีความยืดหยุ่น และผู้เข้าพักแรมสามารถปรับเพิ่ม-ลดบริการเสริม ให้ตอบโจทย์กับความต้องการได้เพิ่มมากขึ้น

– ความได้เปรียบจากธุรกิจอื่นที่มีความสัมพันธ์กัน (Conglomeration Economy) โดยปกติกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ มักมีธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น เช่น สปา ร้านอาหาร ธุรกิจแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ หรือห้างสรรพสินค้า ที่อาจใช้ประโยชน์จากธุรกิจอื่นผ่านรูปแบบสิทธิประโยชน์ เช่น บัตรกำนัลในการใช้บริการธุรกิจในเครือเดียวกัน เป็นต้น

2. การกระจุกตัวรายได้เกิดในเมืองหลักในรูปแบบ Gateway City ที่สะท้อนถึงความสัมฤทธิ์ผลที่ไม่สมบูรณ์ของโครงการท่องเที่ยวเมืองรอง ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ประสิทธิผลของการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่พื้นที่เมืองรองยังไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากเมืองรอง ยังไม่สามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อดึงดูดให้เกิดการพักแรม

ทั้งนี้ ส่งผลให้เม็ดเงินส่วนใหญ่ ยังคงหมุนเวียนในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น พื้นที่ภาคตะวันออกในปี 66 เทียบกับปี 65 ที่มีนักท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีเพิ่มขึ้นเกิน 200% แต่รายได้โรงแรมเติบโต 27% ในขณะที่ชลบุรี ที่มีผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้น 50% แต่รายได้โรงแรมเติบโตถึง 70%

ดังนั้น แม้ธุรกิจโรงแรมยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดรับกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังแฝงด้วยความเปราะบาง ด้วยเหตุดังกล่าว หากธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวไทยจะสามารถพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืน และเต็มรูปแบบ ttb analytics แนะให้ภาครัฐควรเร่งพัฒนาศักยภาพ ผ่านนโยบายที่มีความต่อเนื่อง และขยายผลเพื่อเพิ่มแต้มต่อให้กับธุรกิจโรงแรมในเมืองรอง และกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้

1. การสนับสนุนท่องเที่ยวเมืองรองให้เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ได้เต็มที่ เช่น สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี ในโครงการ “เที่ยวเมืองรอง 2567” ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15,000 บาท โดยถ้าพิจารณาถึงเงินจำนวนดังกล่าว อาจเกิดจากการเดินทางแค่ 1 ทริป การท่องเที่ยวเมืองรองในทริปถัดไปอาจไม่จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเมืองรอง

รวมถึงเมื่อพิจารณาการนำรายจ่ายท่องเที่ยวเมืองรอง มาหักภาษีได้เต็มจำนวนโดยไม่กำหนดเพดาน อาจส่งผลดีกับรายรับของภาครัฐ เนื่องจากตามฐานข้อมูลผู้เสียภาษีพบกว่า 90% เสียภาษีในฐานภาษีไม่เกิน 10% และเม็ดเงินที่สามารถทำมาลดหย่อน ต้องเป็นเม็ดเงินที่อยู่ในระบบภาษีที่ส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% รวมถึงผลทางอ้อมที่จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ผ่านตัวทวีรายจ่ายเอกชน (Multiplier Effect) ที่จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียน และส่งผลต่อทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ที่เพิ่มสูงขึ้น

2. การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างแต้มต่อจากความเสียเปรียบตามธรรมชาติที่มีอยู่ เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ออกนโยบายลดหย่อนภาษีพิเศษสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่เมืองรอง พร้อมออกนโยบายกระตุ้นฝั่งอุปสงค์ ทั้งภาคประชาชนและธุรกิจที่จะมาพักแรม หรือทำกิจกรรมบนพื้นที่เมืองรอง แบบมีเงื่อนไขและข้อจำกัดให้น้อยที่สุด หรืออาจออกวงเงินพิเศษ (Transformation Loan) เพื่อเป็นเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาห้องพักและบริการ ให้สอดคล้องกับกำลังใช้จ่ายของกลุ่มอุปสงค์เป้าหมาย

ttb analytics คาดธุรกิจโรงแรมยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง จากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง หากแต่ความเติบโตดังกล่าว มีลักษณะการเติบโตแบบไม่เท่าเทียม โดยธุรกิจรายใหญ่มีแนวโน้มเติบโตดีกว่ารายเล็ก เมืองท่องเที่ยวหลักยกระดับเป็นเมืองศูนย์กลางท่องเที่ยวภูมิภาค (Reginal Tourism Capital) ที่ดึงดูดการพักแรมของนักท่องเที่ยวจากเมืองรองในพื้นที่มาพักแรมในจังหวัดหลัก ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลัก

ดังนั้น เพื่อลดความเปราะบางดังกล่าว ภาครัฐควรสนับสนุนออกนโยบายแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของนโยบายเที่ยวเมืองรอง รวมถึงเน้นย้ำ “ความยั่งยืนต่อเนื่องของนโยบาย และสร้างความเชื่อมั่นนโยบาย” โดยสนับสนุนให้เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถวางแผนธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตไปพร้อมกับแรงหนุนจากภาครัฐ ที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเพิ่มศักยภาพการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เลือกพักแรมในเมืองรองเพิ่มขึ้น ทำให้ขนาดเศรษฐกิจโตขึ้น และส่งผลต่อการขยายตัวของเมืองรอง ซึ่งจะทำให้เกิดกิจกรรมมากพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะพัก และใช้เวลาในจังหวัดเมืองรอง มากกว่าเพียงแค่เดินทางไปเช้า-เย็นกลับ หรือใช้เป็นแค่ทางผ่านเหมือนอย่างปัจจุบัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top