มท.4 ยันรัฐบาลเร่งพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน คาดพร้อมใช้กลางปี 68

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้านได้ตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลถึงมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยหลังน้ำลด รวมถึงมีมาตรการรับมือความเสี่ยงพายุซูริก ระหว่างวันที่ 19-23ก.ย.นี้อย่างไร ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินมีความคืบหน้าอย่างไร และการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อให้คนและเครื่องมือมีความพร้อมมีการดำเนินการหรือไม่

โดยน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ได้ชี้แจงกระทู้ถามสดของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน แทนนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทันที ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ กองทัพ ภาคเอกชน มูลนิธิ กู้ภัย และทุกภาคส่วนโดยรัฐบาลได้ใช้งบกลางเบื้องต้น 3,045 ล้านบาทช่วยเหลือทันที พร้อมมีมาตรการในอีกหลายหน่วยงานเข้าไปช่วยดำเนินการต่อเนื่องจากนี้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ในเรื่องของค่าน้ำค่าไฟฟ้า ในเดือนกันยายนนี้จะไม่เก็บค่าน้ำค่าไฟในพื้นที่ประสบปัญหา ส่วนในเดือนต่อไปก็ปรับลงลงให้ 30% ซึ่งเราถือหลักการว่าเมื่อเกิดปัญหาให้ช่วยเหลือทันที ส่วนในจังหวะถัดไปให้ดูหน้างานและสามารถปรับยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม

ในเรื่องน้ำประปา ทั้งน้ำบริโภคและใช้ชำระล้างโคลนดินนั้น การประปาส่วนภูมิภาคได้จัดน้ำบริโภคบรรจุขวดให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจ่ายน้ำล้างโคลนให้ฟรี และมาตรการเสริมนอกจากนี้ก็กำลังพิจารณาว่าในเดือนต่อไปจะดำเนินการเช่นไรยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

ส่วนเงินชดเชยเยียวยาบ้านเสียหายทั้งหลัง เบื้องต้นเยียวยา 230,000 บาท และให้เริ่มดำเนินการได้ทันที ส่วนมาตรการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมนั้น ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกระทรวงมหาดไทยจะจ่ายเงินเยียวยาเร่งด่วนจากงบกลาง ครัวเรือนละ 5,000-9,000 บาทผ่านระบบพร้อมเพย์ เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีมาตรการฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการสนับสนุนพันธ์ข้าว พืชไร่ ในการเพาะปลูก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กังวลใจอยากให้เยียวยาเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนพอใจมากที่สุด

ในส่วนของระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน โดยน.ส.ธีรรัตน์ ยืนยันว่า มีการเตือนกันแทบทุกระยะที่น้ำขึ้น แต่ข้อมูลอาจไม่ถึงประชาชน ทำให้ต้องเร่งทำงาน จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องหาทางออกพัฒนาระบบให้ดีขึ้น โดยทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันฯ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างจากงบปี 67 ซึ่งล่าช้าเพราะงบปี 67 เพิ่งได้รับการอนุมัติจากสภา โดยคาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้นทันกลางปี 68

“ยอมรับว่าช้า แต่ต้องเข้าใจกระบวนการปฏิบัติของฝ่ายปฏิบัติที่ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบราชการทุกขั้นตอน จะพยายามเร่งมือให้เร็วกว่านี้ เพื่อให้ก่อนกลางปี 2568 จะมีระบบเตือนภัยฉุกเฉินใช้ในการเตือนภัยพิบัติในพื้นที่เกิดเหตุ ขอให้วางใจเชื่อมั่นรัฐบาลว่าระบบเตือนภัยในปัจจุบันทุกคน ไม่ว่าจะมีมือถือหรือไม่มี จะได้รับการแจ้งเตือนภัยเรื่องภัยธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top