“หลานม่า” ภาพยนตร์ไทยเนื้อหาสุดซึ้งกินใจผู้คนจนมีชื่อเสียงโด่งดังและกวาดรายได้มหาศาลตั้งแต่เข้าฉายในแผ่นดินใหญ่ของจีนเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยสามารถทำรายได้มากกว่า ร้อยล้านหยวน (ราว 469 ล้านบาท) และมีเรตติงอยู่ที่ 8.9 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนนจากผู้ชมภาพยนตร์กว่า 140,000 คนบนเว็บไซต์โต้วป้าน (Douban) แหล่งรวมรีวิวและคำวิจารณ์ภาพยนตร์สัญชาติจีน
นอกจากจะประสบความสำเร็จในจีนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องหลานม่ายังได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขึ้นแท่นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงที่สุดของไทยในปี 2567 และเป็นภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในมาเลเซีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
“หลานม่า” ภาพยนตร์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่อาสาขอดูแลย่าของตนที่ป่วยหนักในฐานะ “หลานชายที่แสนกตัญญู” เพื่อหวังที่จะเป็นผู้ได้รับมรดกของย่า ทว่าสุดท้ายกลับพบคุณค่าที่แท้จริงของความสัมพันธ์ในครอบครัว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผู้ชมชาวจีนส่วนมากพบว่าครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลแต้จิ๋วที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับครอบครัวของตน ทำให้พวกเขามีอารมณ์ร่วมไปกับภาพยนตร์จนน้ำตาซึม และนำมาสู่การถกเถียงเกี่ยวกับจริยธรรมของครอบครัวและปัญหาทางสังคมในวงกว้าง
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับและผู้ร่วมเขียนบทของภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เราทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี สิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ “หลานม่า” ได้รับความนิยมและเข้าถึงผู้คน
หลานม่าเป็นผลงานภาพยนตร์เกี่ยวกับครอบครัวชิ้นแรกของพัฒน์ โดยในตอนเริ่มแรกบทภาพยนตร์นี้เขียนขึ้นโดยอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนบทอีกหนึ่งคนที่ต้องดูแลย่าที่ป่วยในตอนที่ตนยังเป็นเด็ก ซึ่งผู้เขียนบททั้งสองคนได้ใช้เวลาถึง 2 ปีในการขัดเกลาบทภาพยนตร์ พร้อมเพิ่มรายละเอียดที่อ้างอิงจากผู้คนและเหตุการณ์จริงมากขึ้น
สำหรับพัฒน์ ผู้กำกับซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-จีน เปิดเผยว่า การสร้างภาพยนตร์โดยอิงจากองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาตั้งแต่รุ่นยายของเขา และสามารถนำภาพยนตร์มาเข้าฉายในจีนที่ซึ่งผลตอบรับของผู้ชม “เกินความคาดหมาย” นั้นล้วนเป็นประสบการณ์ที่แสนพิเศษสำหรับเขา
ด้านทรงพล วงษ์คนดี ผู้อำนวยการฝ่ายขายและธุรกิจต่างประเทศของจีดีเอช 559 (GDH 559) ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ชื่อดังเรื่องนี้ ระบุว่า การที่หลานม่าได้รับความนิยมในจีน เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสำเร็จในการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของไทย โดยตลาดพลู ซึ่งเป็นตลาดในเขตธนบุรีของกรุงเทพฯ และเป็นสถานที่ถ่ายทำหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้กลายมาเป็นจุดเช็กอินยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแล้วในปัจจุบัน
ทรงพลยังหวังว่า ผู้บริโภคชาวจีนจะเข้าใจภาพยนตร์ไทยมากขึ้นผ่านโอกาสในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในตลาดวัฒนธรรมที่กว้างกว่าเดิม
เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์และซีรีส์ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติของไทย เปิดเผยว่าไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่งดงาม เช่น ชายทะเลและเกาะต่าง ๆ
เฉลิมชาตรีเผยว่า ไทยและจีนมีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยมีทีมงานภาพยนตร์ชาวจีนเดินทางมาถ่ายทำที่ไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะภาพยนตร์และซีรีส์บางเรื่องที่มีกลิ่นอายของไทยได้รับความนิยมในตลาดขนาดใหญ่ของจีนเช่นกัน พร้อมเสริมว่าภาพยนตร์มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเราให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับจีนในด้านอุตสาหกรรมนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 67)
Tags: XINHUA, หลานม่า