ส่องอุตฯ อาหารสัตว์เลี้ยงไทย ปี 67 แนวโน้มแข่งดุทั้งตลาดใน-ตปท.

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ครบวงจร อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก ที่มีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมเกษตร และอาหารทะเลแปรรูปที่มีอยู่ในประเทศ เช่น แป้ง ธัญพืช เศษอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ โดยสัดส่วนตลาดในประเทศคิดเป็น 33% ของมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมดของไทย และอีก 67% เป็นมูลค่าตลาดส่งออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศปี 67 โต 15.8% จากปีก่อน ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากมีจำนวนสัตว์เลี้ยงมากที่สุดและผู้เลี้ยงมีกำลังซื้อ

ส่วนมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี 67 คาดโต 19.5% จากปีก่อนที่หดตัว 15.0% จากความต้องการของคู่ค้าหลักที่ทยอยฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ อาทิ สหรัฐฯ อิตาลี ญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 50% รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดรองที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะอังกฤษและนิวซีแลนด์

 

แนวโน้มตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศ

ในปี 67 คาดว่า ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 3.75 แสนตัน ขยายตัว 5.9% จากปีก่อน ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 67 คาดว่า สัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของมีอยู่ราว 5.7 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 22% แบ่งเป็นสุนัข 3.7 ล้านตัว และแมว 2 ล้านตัว ส่งผลให้ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่กว่า 76% จะอยู่ในกลุ่มอาหารสุนัข จากจำนวนสุนัขที่มีมากกว่า

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า คาดว่า สัดส่วนยอดขายอาหารแมวน่าจะเพิ่มขึ้น จากความนิยมเลี้ยงแมวที่มีมากขึ้น สะท้อนได้จากในช่วงปี 65-67 อัตราการเติบโตเฉลี่ยของจำนวนแมวที่เลี้ยงเพิ่มขึ้น 22% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของสุนัขที่ 15% ต่อปี

 

พื้นที่ศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงอยู่ราว 3.1 แสนตัว คิดเป็น 5% ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด อีกทั้งคนในพื้นที่ดังกล่าวมีรายได้เฉลี่ยที่ 35,901 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศที่ 29,030 บาท/เดือน จึงเป็นพื้นที่ศักยภาพในการขยายตลาด เนื่องจากมีกำลังซื้อที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น

ดังนั้น จากยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงและจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น คาดว่า มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศจะอยู่ที่ 41,700 ล้านบาท ในปี 67 ขยายตัว 15.8% จากปีก่อน ขณะที่กำไรของธุรกิจคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้น สอดคล้องไปกับยอดขายที่โตและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับลดลง โดยเฉพาะปลาทูน่าที่ปัจจุบันราคาลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

การแข่งขันของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศ

ในปี 66 ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีอยู่ราว 296 ราย ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 67 มีจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นอีก 29 ราย สะท้อนว่า มีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังมีผู้ประกอบการนอกธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที ฯลฯ ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันกับอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าที่เข้ามาในไทยมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ของมูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี 62-66 อยู่ที่ 6.3% ต่อปี โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นอันดับ 1 และมีสัดส่วนราว 40%

 

แนวโน้มการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเติบโต มาจากพฤติกรรมนิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทั้งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และสภาพสังคมที่มีขนาดครอบครัวเล็กลง อาทิ

– สหรัฐฯ รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงราว 81,632 เหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีจำนวนสัตว์เลี้ยงในประเทศสูงถึง 111.6 ล้านตัว สะท้อนถึงมีกำลังซื้อที่พร้อมจะจ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยง

– ญี่ปุ่น มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่เกือบ 30% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังมักเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน

– ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นิยมเลี้ยงสัตว์มากขึ้นเพื่อเติมเต็มความสุข โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมมีบุตรช้าหรือไม่แต่งงาน

นอกจากนี้ ในปี 62-66 อัตราการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงโลกเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 11% ต่อปี โดยตลาดที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าเพิ่มและสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ส่วนใหญ่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน สะท้อนถึงโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง

ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 67 ไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงราว 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 19.5% จากปีก่อนที่หดตัว 15% โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากความต้องการจากตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ อิตาลี ญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 50% ทยอยฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีตลาดที่มีศักยภาพอื่น ๆ เช่น อังกฤษ ที่จำนวนสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.2 ล้านตัว หลังช่วงโควิด-19 หรือนิวซีแลนด์ จากผลข้อตกลงทางการค้า FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ที่ทำให้ภาษีนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงเป็น 0% จึงทำให้ยอดการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

การแข่งขันของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในตลาดส่งออก

ไทยเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ ไทยต้องเจอคู่แข่งที่สำคัญอย่างเม็กซิโก ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องระยะขนส่งที่ใกล้ หรือญี่ปุ่น ที่ไทยต้องแข่งกับเกาหลีใต้ ซึ่งได้เปรียบด้านราคา สะท้อนได้จากส่วนแบ่งตลาดของเกาหลีใต้ที่ส่งไปญี่ปุ่นปี 66 เพิ่มขึ้นเท่า 2 เท่าจากปี 64

 

ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไทย

1. ต้นทุนการผลิตยังคงผันผวน แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะวัตถุดิบ อาทิ ปลาทูน่า ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 60% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดจะปรับลดลง แต่ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจกระทบกับผลผลิต ทำให้ราคาวัตถุดิบยังคงผันผวน และมีแนวโน้มขยับขึ้นได้

2. มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน การตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้ากับการเลือกใช้วัตถุดิบ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือไม่เป็นไปตามแนวทางการทำธุรกิจแบบยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (อาทิ ปลาป่น กากถั่วเหลือง)

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top