ศาลยุโรปชั้นรองตัดสินยืนยันโทษปรับบริษัทควอลคอมม์ (Qualcomm) ผู้ผลิตชิปชื่อดังของสหรัฐฯ ในคดีผูกขาดตลาด โดยลดโทษลงเล็กน้อยจาก 242 ล้านยูโร เหลือ 238.7 ล้านยูโร
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) สั่งปรับควอลคอมม์ในปี 2562 โดยกล่าวหาว่าบริษัทขายชิปเซ็ตในราคาต่ำกว่าทุน ระหว่างปี 2552-2554 ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า “Predatory Pricing” หรือการขายตัดราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งอย่างอิเซรา (Icera) บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์โทรศัพท์ของอังกฤษ
อนึ่ง ปัจจุบันอิเซราเป็นส่วนหนึ่งในเครือบริษัทอินวิเดีย (Nvidia)
ควอลคอมม์แก้ต่างว่า ชิปเซ็ตเบสแบนด์ 3G ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ มีส่วนแบ่งตลาดแค่ 0.7% ในตลาด UMTS (Universal Mobile Telecommunications System) จึงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทจะกีดกันคู่แข่งรายอื่น ๆ ในตลาดชิปเซ็ต
ศาลกลางแห่งสหภาพยุโรป (General Court) ซึ่งตั้งอยู่ในลักเซมเบิร์ก ชี้แจงว่า “ศาลได้พิจารณาข้อโต้แย้งทั้งหมดของควอลคอมม์อย่างละเอียดถี่ถ้วน และปฏิเสธทุกข้อ ยกเว้นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับวิธีคำนวณค่าปรับ ซึ่งศาลเห็นว่ามีมูลอยู่บ้าง”
ทั้งนี้ ควอลคอมม์ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (EU Court of Justice) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของยุโรปได้อีก
ก่อนหน้านี้ ควอลคอมม์เคยชนะคดีในศาลเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีก่อน โดยศาลยกเลิกค่าปรับ 997 ล้านยูโร ในคดีผูกขาดที่เกิดขึ้นในปี 2561 จากกรณีที่ควอลคอมม์จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้แอปเปิ้ล (Apple) ตั้งแต่ปี 2554-2559 เพื่อให้แอปเปิ้ลใช้ชิปของควอลคอมม์แต่เพียงผู้เดียวในไอโฟน (iPhone) และไอแพด (iPad) ทุกรุ่น ซึ่งเป็นการกีดกันคู่แข่งรายอื่น เช่น อินเทล (Intel) ต่อมา EC ตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 67)
Tags: EU, Qualcomm, ผู้ผลิตชิป, ยุโรป, สหรัฐ, เทคโนโลยี