ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 งบกลาง เป็นจำนวน 3,045 ล้านบาท โดยให้กระทรวงมหาดไทย เร่งขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบความเหมาะสมกับสถานการณ์ และลดขั้นตอนเอกสารที่ต้องยื่นให้การช่วยเหลือต่าง ๆ ให้การเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการเร่งพิจารณาถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มเติมจากกรณีปกติที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากมีเรื่องใดที่มีความจำเป็นเสนอต่อที่ประชุม ครม. ให้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงระบบการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ซึ่งจะมีการเรียกประชุมในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.67) ขณะที่การพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหารือถึงมาตรการการระบายน้ำร่วมกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศ กำลังจะมีการพูดคุยกับประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ประเทศเมียนมา เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง
“เป็นปัญหาที่พบเจอเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งประเทศไทยได้เป็นประธานในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงด้วย คิดว่าสามารถเริ่มพูดคุยได้ทันที” นายกรัฐมนตรี ระบุ
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาพดินฟ้าอากาศทั่วประเทศ เพื่อเตรียมมาตรการรับมือได้ทันสถานการณ์ พร้อมกำชับให้คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์เป็นรายชั่วโมง
สำหรับมาตรการเยียวยานั้น ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้ลดขั้นตอนการช่วยเหลือในเรื่องเอกสารหลักฐาน เช่น กรณีบ้านเสียหายเกิน 70% เบื้องต้นให้จ่ายเงินเยียวยาหลังละ 2.3 แสนบาท นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
“ตอนนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่ต้องเร่งแก้ไขไปก่อน หลังจากนี้หน่วยงานต่างๆ จะมีมาตรการช่วยเหลือตามมา นายกรัฐมนตรีมีแผนป้องกันในระยะยาว เพราะมีปริมาณน้ำจำนวนมากมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ไปศึกษาเพิ่มเติมว่าจะสามารถทำกำแพงหรือเขื่อนกั้นน้ำได้หรือไม่” นายจิรายุ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 67)
Tags: จิรายุ ห่วงทรัพย์, อุทกภัย, แพทองธาร ชินวัตร