อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ คิดค้น “เจลทรานสเฟอร์โซม” ทางเลือกใหม่ช่วยลบเลือนรอยแผลเป็นนูน ผลิตภัณฑ์ทำจากสารสำคัญที่พบได้ในพืชบัวบกผนวกเทคนิคพิเศษ
“การฉีดยาสเตียรอยด์จะทำให้ผิวบางลง การเลเซอร์ก็ทำให้เจ็บ ส่วนผลิตภัณฑ์ลบเลือนแผลเป็น โดยมากก็นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.รมย์ฉัตร ชูโตประพัฒน์ ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาของการรักษารอยแผลเป็น ซึ่งเป็นที่มาของการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
“จากโจทย์ดังกล่าว เราจึงค้นคว้าดูว่ามีสมุนไพรไทยอะไรบ้างที่ดูแลเรื่องรอยแผลเป็นนูนได้ แล้วก็พบว่า “กรดเอเชียติก” ในบัวบกมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนังได้ดี แต่ไม่สามารถนำมาใช้ทาแผลเป็นได้โดยตรง เราจึงพัฒนาวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในบัวบกให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด โดยนำกรดเอเชียติกของบัวบกมาบรรจุลงในอนุภาคทรานสเฟอร์โซมในรูปแบบเจลเพื่อให้สามารถเกาะและซึมลงผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ผลงานนวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ได้รับรางวัลเหรียญทอง และถ้วยรางวัลพิเศษ Special Prize for the Best International Invention จาก Korea Invention Promotion Association ในงาน Invention, Innovation and Technology Exhibition 2024 (ITEX 2024) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567
ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรอธิบายว่า “กรดเอเชียติก” จากพืชบัวบก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนัง ฆ่าเชื้อ และทำให้แผลสมานตัวได้ดี แต่เป็นสารละลายน้ำได้ยาก เมื่อทาลงบนผิวโดยตรง สารดังกล่าวจะไม่สามารถซึมลงสู่ชั้นผิวหนังบริเวณที่เกิดการอักเสบได้ จึงจำเป็นต้องสรรหาเทคโนโลยีที่จะช่วยนำส่ง “สารเอเชียติก” จากบัวบกเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่ต้องการรักษา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเรียกว่าทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes)
“อนุภาคทรานสเฟอร์โซมเป็นเทคนิคการเก็บกักสารไว้ในอนุภาคขนาดนาโนเมตร อนุภาคมีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดี ทำให้นำส่งสารจากพืชบัวบกเข้าไปในผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผนวกกับการที่ทีมวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบของเจล ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟิล์มที่สามารถเกาะบริเวณแผลได้ดี ดังนั้น เมื่อกรดเอเชียติกเกาะบริเวณแผลเป็นได้นานขึ้น โอกาสที่สารจะซึมเข้าไปบริเวณแผลก็มากขึ้นเช่นกัน”
นอกจากจะช่วยดูแลเรื่องแผลเป็นนูนแล้ว “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ยังสามารถใช้กับแผลเป็นที่มีรอยดำ อันเกิดมาจากสิว การแกะเกาแผล หรือแผลตกสะเก็ดได้ด้วย
“ปกติแผลเป็นนูนจะทำให้เรารู้สึกตึง ๆ รั้ง ๆ บริเวณแผล ผิวบริเวณนั้นจะแห้งมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดรอยดำหรือรอยแดงตามมาได้ การใช้ผลิตภัณฑ์เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก จะทำให้ผิวหนังบริเวณแผลเป็นนั้นยืดหยุ่นและชุ่มชื้นมากขึ้น อีกทั้งลดปริมาณเม็ดสีบริเวณที่เป็นรอยด้วย จึงสามารถช่วยดูแลปัญหารอยดำบริเวณผิวหนังที่เกิดการอักเสบได้”
“เราสามารถใช้เจลนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการโดยไม่มีอันตรายใด ๆ เนื่องจากเจลทรานสเฟอร์โซม มีส่วนประกอบของสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใน CosIng EU database ว่า “มีความปลอดภัย เมื่อใช้บนผิวหนัง” ซึ่งแม้ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตรกล่าวให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
นวัตกรรม “เจลทรานส์เฟอร์โซมกักเก็บกรดเอเชียติก” เป็นผลงานสตาร์ทอัพโดยบริษัท บิวตี้ แพลนท์ แลบอราทอรี จำกัด ภายใต้การบริหารงานของคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับการบ่มเพาะโดย CU Innovation Hub ขณะนี้ผลงานได้ทำการจดสิทธิบัตรโดยสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมสำหรับการจดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง โดยตั้งเป้าหมายการจดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์หรือยาในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 67)
Tags: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ใบบัวบก