นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ได้ชี้แจงให้เห็นมุมมองของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ในการเดินหน้าบริหารเศรษฐกิจของประเทศผ่าน 3 แนวคิดหลัก ดังนี้
แนวคิดที่ 1 การใช้ Demand Side Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ ด้วยกำลังซื้อที่แข็งแรง ซึ่งแนวคิดนี้ถือเป็น DNA ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะถกเถียงกันมานานเรื่องการใช้งบ 4.5 แสนล้านบาท มาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แทนที่จะนำไปใช้สำหรับโครงการในระยะยาวมากกว่า ซึ่งรัฐบาลมองว่ามีความจำเป็นต้องสร้างกำลังซื้อในประเทศให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อเหนี่ยวนำไปสู่การลงทุนในอนาคต
ปัจจุบัน หากพิจารณากำลังซื้อในประเทศจาก 2 ส่วน กล่าวคือ ส่วนแรก รายได้ภาคเกษตรกร ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 4.8% ส่วนที่สอง รายได้ภาคประชาชน ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 7.4% แต่แม้ตัวเลขจะดี ต้องพิจารณาต่อว่ากำลังซื้อที่ดีนี้ ส่งผลไปถึงการผลิต และการลงทุนภาคเอกชนด้วยหรือไม่
ซึ่งเมื่อดูไปถึงดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) และอัตราการใช้กำลังการผลิต จะพบว่าตัวเลขยังไม่ค่อยดีนัก นั่นหมายถึง กำลังซื้อที่เกิดขึ้นแม้จะดูเหมือนดี แต่ยังไม่ส่งผลไปถึงภาคการผลิต ยังขาดอีกแรงกระตุ้น ที่จะทำให้ภาคการบริโภคแข็งแรงมากกว่านี้ เพื่อรักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจให้ไปถึงภาคการผลิตให้ได้
“นี่จึงเป็นที่มาว่า เหตุใดดิจิทัลวอลเล็ต จึงจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพื่อทำให้กำลังซื้อแข็งแรงมากเพียงพอให้เกิดการผลิตของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าการกระจายเม็ดเงินต้องเกิดขึ้นภายในเดือนก.ย.นี้” นายเผ่าภูมิ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในภาวะที่ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัวดี สิ่งที่กระทรวงการคลังทำ คือการประคองด้วยสินเชื่อเพื่อให้เอกชนยืนอยู่ได้ ผ่านการปล่อยสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ใส่กลไกค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการ PGS เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้แก่ SME รวมทั้งกลไกค้ำประกันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่ให้ประชาชนซื้อประกันความเสี่ยงให้ตัวเอง เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ง่ายขึ้น
“ซึ่งกลไกเหล่านี้ เราพยายามประคองการผลิต ในระหว่างรอจังหวะให้การบริโภค หรือกำลังซื้อเข้ามาเชื่อม ซึ่งเรากำลังพยายามใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบ” นายเผ่าภูมิ กล่าว
แนวคิดที่ 2 การแก้ไขปัญหาหนี้นั้น รัฐบาลมองการแก้ไขใน 3 ส่วน ซึ่งแบ่งเป็น 1.หนี้ภาคประชาชน หรือหนี้ครัวเรือน 2.หนี้ภาคธุรกิจ และ 3.หนี้ภาครัฐ หรือหนี้สาธารณะ ซึ่งหนี้ทั้ง 3 ส่วนนี้ จะต้องเกลี่ยให้มีความสมดุลซึ่งกันและกัน แต่ปัจจุบัน พบว่าหนี้ครัวเรือนไทย อยู่ที่ 90% ของจีดีพี ส่วนหนี้ภาคธุรกิจ อยู่ที่ 55% และหนี้สาธารณะ อยู่ที่กว่า 60% ซึ่งเห็นถึงความไม่สมดุล และการโยนภาระไปที่หนี้ภาคประชาชน
“หนี้ภาคประชาชนของไทย สูงจนน่าอันตราย ในขณะที่หนี้ภาครัฐ ยังสบาย ๆ นั่นหมายถึงที่ผ่านมา เรายังทำไม่ดีพอที่จะให้ภาครัฐช่วยอุ้มภาคประชาชน เพื่อกดหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพื่อจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ตราบใดที่ประชาชนมีหนี้อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ กำลังซื้อจะไม่มีทางเกิดขึ้น จึงเป็นที่มาว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่กังวลมากต่อการเพิ่มหนี้สาธารณะ ตราบใดก็ตาม ที่มาสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดหนี้ภาคครัวเรือนที่อันตรายกว่า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลของหนี้ 3 กอง” นายเผ่าภูมิ ระบุ
แนวคิดที่ 3 รัฐบาลให้ความสำคัญกับ “เงินใหม่” ซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศ ที่รอการดึงดูดเข้ามาในประเทศ นอกเหนือจากการมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นที่มาที่รัฐบาลสมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เดินสายไปชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพราะต้องการให้เกิดเม็ดเงินใหม่ และเป็นที่มาของการทำนโยบาย Entertainment Complex เพราะจะเป็นเงินใหม่จากเอกชนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อมาช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพในไทย ตลอดจนการทำ Financial Hub และแก้กฎหมายเพื่อดึงให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้ามาตั้งสาขาในไทย เพราะนี่คือเงินใหม่ นอกเหนือจากงบประมาณ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ และสุดท้าย การจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง เพื่อให้เกิดการระดมทุนใหม่ ๆ เข้ามาสู่ระบบ
“นี่คือหลักคิดของเรา ในการที่จะขับเคลื่อนประเทศ ด้วย Demand Side Economy ในการทำเศรษฐกิจให้จุดประกายด้วยกำลังซื้อ ด้วยอุปสงค์ การบริหารหนี้ 3 กองของประเทศ และการดึงเงินใหม่เข้ามาบริหารประเทศ นอกเหนือจากเงินงบประมาณ ทั้งหมดเหล่านี้ ท่านจะมองเห็นหลักคิดของรัฐบาลว่าเราจะเดินไปสู่จุดไหน” รมช.คลัง กล่าวในท้ายสุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 67)
Tags: กระทรวงการคลัง, รัฐบาล, เผ่าภูมิ โรจนสกุล