รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (12 ก.ย.) ว่า สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรบุคคลใกล้ชิดของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา จำนวน 16 ราย เพื่อตอบโต้ต่อการที่มาดูโรทุจริตการเลือกตั้งและปราบปรามฝ่ายค้านทางการเมืองอย่างหนัก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เอ็ดมุนโด กอนซาเลซ ซึ่งสหรัฐฯ และนานาชาติต่างยอมรับว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งปธน.เมื่อวันที่ 28 ก.ค. เพิ่งลี้ภัยไปยังสเปนได้ไม่กี่วัน หลังจากรัฐบาลมาดูโรออกหมายจับผู้นำฝ่ายค้านรายนี้
รายชื่อผู้ที่ถูกคว่ำบาตรในครั้งนี้ ประกอบด้วยบุคคลสำคัญอย่าง คารีสเลีย โรดริเกซ ประธานศาลฎีกา โรซัลบา กิล ผู้อำนวยการสภาการเลือกตั้ง และ เปโดร อินฟานเต รองประธานสมัชชาแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังรวมถึงบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยข่าวกรองที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้เห็นต่างหลังการเลือกตั้ง
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่า นอกจากคว่ำบาตรแล้ว สหรัฐฯ ยังงัดมาตรการลงโทษชุดแรก ด้วยการจำกัดวีซ่าเจ้าหน้าที่ระดับสูง “ที่ฝักใฝ่ฝ่ายมาดูโร” อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อตอบโต้ชัยชนะในการเลือกตั้งที่น่ากังขาของมาดูโร แต่ไม่ได้เปิดเผยจำนวนที่แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังไม่ประกาศมาตรการใหม่ใด ๆ ต่อภาคพลังงาน ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเวเนซุเอลา แม้ภาคส่วนนี้อยู่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอย่างหนักอยู่แล้ว การละเว้นดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของมาตรการใหม่ที่ประกาศออกมา
รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังหาทางลงโทษมาดูโรและพวกพ้อง โทษฐานที่สหรัฐฯ มองว่ามาดูโรผิดสัญญา ไม่ยอมจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมอย่างที่เคยรับปากไว้ พร้อมกันนั้นก็ต้องการกดดันให้มาดูโรเจรจากับฝ่ายค้านด้วย
วอลลี อเดเยโม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงว่า “กระทรวงการคลังกำลังเพ่งเล็งไปที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับชัยชนะของมาดูโรที่ได้มาด้วยการโกงและมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการปราบปรามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างโหดเหี้ยมหลังการเลือกตั้ง ในขณะที่ชาวเวเนซุเอลาส่วนใหญ่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง”
อิวาน กิล รัฐมนตรีต่างประเทศเวเนซุเอลา โต้กลับผ่านเทเลแกรมทันที โดยโพสต์ว่ารัฐบาลปฏิเสธ “การรุกรานครั้งใหม่จากสหรัฐฯ ที่กำหนดมาตรการบีบบังคับฝ่ายเดียว โดยมิชอบและผิดกฎหมาย ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ”
แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลสูงสุดของเวเนซุเอลาจะประกาศว่า มาดูโร ผู้นำสังคมนิยมที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2556 ชนะการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายค้านกลับแย้งว่า ผลการนับคะแนนของผู้สังเกตการณ์ฝ่ายตนเองชี้ชัดว่า กอนซาเลซคว้าชัยชนะอย่างท่วมท้น
หลายประเทศประชาธิปไตยออกมาประณามมาดูโรที่ประกาศชัยชนะอย่างไร้หลักฐาน พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลผลการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส และกล่าวหาว่ามาดูโรแทรกแซงการนับคะแนน
กอนซาเลซ อดีตนักการทูตผู้มากประสบการณ์วัย 75 ปี ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยังสเปนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลเวเนซุเอลาขู่จะจับกุมตัวเขาในข้อหากบฏและอาชญากรรมอื่น ๆ ซึ่งเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
การลี้ภัยของกอนซาเลซ ประกอบกับการปราบปรามฝ่ายค้านหลังเลือกตั้งอย่างหนัก และความล้มเหลวของประชาคมโลกในการดำเนินการใด ๆ ที่เด็ดขาดเพื่อสั่นคลอนอำนาจของมาดูโร ทำให้ความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของชาวเวเนซุเอลาริบหรี่ลงมาก
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางรายเผยว่า การตอบสนองอย่างระมัดระวังของวอชิงตันสะท้อนถึงความกังวลว่า มาตรการลงโทษที่รุนแรงอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งราคาน้ำมันโลกที่อาจพุ่งสูงขึ้น และเศรษฐกิจเวเนซุเอลาที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้วอาจทรุดหนัก ซึ่งอาจทำให้ชาวเวเนซุเอลาแห่อพยพไปยังชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ทีมงานของไบเดนและรองปธน.คามาลา แฮร์ริส ซึ่งขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงชัยเก้าอี้ปธน.ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ต่างก็หวั่นเกรงว่า หากสถานการณ์ชายแดนเลวร้ายลง พรรครีพับลิกันจะใช้โอกาสนี้โจมตีเรื่องผู้อพยพ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่สร้างความแตกแยกในสังคมอย่างหนัก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาคว่ำบาตรภาคพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการเพิ่มข้อจำกัดบริษัทเชฟรอน (Chevron) ของสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจในเวเนซุเอลาหรือไม่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ตอบว่า กำลังพิจารณา “หลาย ๆ ทางเลือก” แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียด
ทั้งนี้ มาตรการคว่ำบาตรใหม่ของกระทรวงการคลังจะสั่งอายัดทรัพย์สินทั้งหมดในสหรัฐฯ ของเจ้าหน้าที่ในรายชื่อดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของการคว่ำบาตรแบบเจาะจงบุคคล เนื่องจากสหรัฐฯ เคยคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่เวเนซุเอลามากกว่า 140 คนแล้ว รวมถึงตัวมาดูโรเองในปี 2560 และยังจำกัดวีซ่าชาวเวเนซุเอลาอีกเกือบ 2,000 คน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ย้ำว่า การคว่ำบาตรครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการกดดันมาดูโรให้ “ตัดสินใจให้ดีขึ้น” เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของเวเนซุเอลาก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งปธน.ในเดือนม.ค.
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งปี 2561 ที่มาดูโรอ้างชัยชนะ โดยมองว่าเป็นเรื่องหลอกลวง และเคยผ่อนปรนการคว่ำบาตรภาคพลังงานของเวเนซุเอลาเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้วเพื่อตอบแทนข้อตกลงระหว่างมาดูโรกับฝ่ายค้าน แต่เมื่อมาดูโรไม่ทำตามสัญญาส่วนใหญ่ในเรื่องการเลือกตั้ง สหรัฐฯ จึงกลับมาคว่ำบาตรอีกครั้งในเดือนเม.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 67)
Tags: คว่ำบาตร, สหรัฐ, เวเนซุเอลา