คำถามถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” หลังน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ถึงแม้การจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อพยายามดึงเสียงในสภาฯ ให้มีมากกว่าเมื่อครั้งจัดตั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แต่ไม่ได้การันตีถึงเสถียรภาพรัฐบาลตามที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนออกมาแสดงความมั่นใจ จุดเสี่ยงของรัฐบาลอาจเป็นเรื่องแนวนโยบายที่อาจขัดกันได้ของพรรคเบอร์หนึ่ง กับพรรคเบอร์สอง หรือในพรรรคร่วมด้วยกัน
นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาล น.ส.แพทองธาร เกิดขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับความนิยมของพรรคประชาชน เป้าหมายสำคัญคือการรักษาอำนาจให้อยู่ครบเทอม และทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมาชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า ผลงานรัฐบาลจึงเป็นตัวพิสูจน์ว่าจะมีโอกาสอยู่ได้ครบเทอมหรือไม่ รวมถึงไปการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องขึ้น ก็มีโอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ได้ไม่นาน
แม้ว่ารัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร จะได้เปรียบเรื่องการทำนโยบาย ตรงที่สามารถสานต่อจากรัฐบาลของนายเศรษฐาได้เลยทันที และ นโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ยังสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา เพราะมีความชัดเจนว่า “มี น.ส.แพทองธาร เท่ากับ มีนายทักษิณ ชินวัตร” เป็นตัวช่วยชัดเจน ทำให้เห็นว่าภาพลักษณ์ดีกว่า
“เหมือนได้โอกาสที่ดีกว่า 2 อย่าง หนึ่งเหมือนคุณเศรษฐาชงตั้งให้มาแล้ว และจังหวะที่คุณเศรษฐาจะลงมือ ก็ต้องไปเสียก่อน คุณอุ๊งอิ๊งมาสวมตรงนี้ ลงมือได้เลยไม่ต้องตั้งลำ ต่อยอดได้เลย กับอีกเรื่องหนึ่งสิ่งที่จะคิดใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์คุณทักษิณ ถ้าลงมือทำได้ทันที จะเป็นอีกแรงบวกหนึ่ง ทำให้มีสองแรงบวก” นายสติธร กล่าว
นายสติธร ระบุว่า แต่โจทย์แรกที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ ทำให้ประชาชนรู้สึกมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะเกือบ 1 ปีในการทำงานของอดีตนายกฯ เศรษฐา ประชาชนก็ยังไม่สามารถจับต้องได้ ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนรู้สึกได้ว่ามีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และคงหนีไม่พ้นการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลกำลังจะกดปุ่มเปลี่ยนเงื่อนไขมาแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางทันที 10,000 บาทก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้
เรื่องนี้อาจมองเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่หลังจากนี้รัฐบาลจะต่อยอดอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะแค่โครงการเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ต ก็ใช้เวลานานนับปีกว่าจะเริ่มโครงการได้ จึงเป็นสิ่งท้าทายต่อการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ส่วนนโยบายใหม่ ๆ ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของรัฐบาลแล้วว่าจะสามารถลงมือและทันใจประชาชนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในการทำงานระยะแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร จำเป็นต้องอาศัยบารมีของนายทักษิณ เป็บใบเบิกทาง หลังจากผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ก็ควรจะปล่อยให้ น.ส.แพทองธาร มีบทบาทเป็นตัวหลักในการบริหารประเทศ เพราะการเคลื่อนไหวของนายทักษิณ อาจกลบรัศมีผู้นำของ น.ส.แพทองธาร และเป็นไปได้ยากที่ น.ส.แพทองธาร จะสลัดภาพทับซ้อนความเป็นลูกสาวของนายทักษิณ ตรงนี้ได้
ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดหรือการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ย่อมถูกสังคมตั้งคำถามว่าที่จริงแล้ว “ถูกครอบงำ” จริงหรือไม่ เห็นได้จากมีการยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบแม้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ยังไม่ได้เริ่มทำงาน ก็มีเรื่องร้องเรียนมากมายถาโถมเข้าใส่แล้ว อาทิ
- อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว ร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบ 6 พรรคการเมือง คือ เพื่อไทย ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ และพลังประชารัฐ ที่ทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กรณีให้บุคคลภายนอกแทรกแซงจากการเข้าพบทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อหารือถึงการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ร้องต่อ กกต. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลายเรื่อง เช่น กรณี น.ส.แพทองธาร ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทเอกชน 20 แห่งก่อนเข้ารับตำแหน่ง, กรณีนายกรัฐมนตรีถูกนายทักษิณครอบงำ, กรณี ครม.สวมเครื่องแบบขาวแล้วทำมินิฮาร์ท
- นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ร้องต่อ กกต.กรณีนายทักษิณ แทรกแซงพรรคเพื่อไทย และชี้นำการจัดตั้งรัฐบาล
ปัญหาเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ส่งผลให้รัฐบาล “เศรษฐา” ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาใช้ร้องเรียนต่อองค์กรอิสระให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนักการเมือง จนถูกมองว่าเป็นการทำ “นิติสงคราม” ที่สั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เส้นทางการเมืองของน.ส.แพทองธาร ในวันนี้ไม่ได้ราบรื่น โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยขวากหนาม และระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ โดยเฉพาะจากกลุ่มการเมืองที่ฉีกหนีพรรคต้นสังกัดมาเข้าร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่พรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลโดยยังมีเสียงค้านจากแกนนำคนสำคัญภายในพรรคนั้น ๆ เอง จะเริ่มปริแตกกันเมื่อใด? และจะกลายเป็นหนามยอกอกของรัฐบาลเองหรือไม่?
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 67)
Tags: PoliticalView, SCOOP, การเมือง, พรรคเพื่อไทย, รัฐบาลเพื่อไทย, อุ๊งอิ๊ง, แพทองธาร ชินวัตร