ผลสำรวจที่เผยแพร่ในวันนี้ (10 ก.ย.) แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวออสเตรเลียยังคงซบเซาในเดือนก.ย. แม้ว่าความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะลดลง แต่ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดแรงงานกลับเพิ่มสูงขึ้นแทน
ผลสำรวจจากสถาบันเวสต์แพค-เมลเบิร์นระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียเดือนก.ย. 2567 ลดลง 0.4% มาอยู่ที่ 84.6 จุด เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับเดือนส.ค. ที่เคยปรับตัวขึ้น 2.8%
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 100 จุด บ่งชี้ว่าผู้บริโภคที่มีมุมมองเชิงลบมีจำนวนมากกว่าผู้บริโภคที่มีมุมมองเชิงบวก
แมทธิว ฮัสซัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเวสต์แพค กล่าวว่า “บรรยากาศแง่ลบที่ปกคลุมมาตลอดสองปีนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย”
“แม้แรงกดดันด้านค่าครองชีพจะเริ่มเบาบางลง และความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยก็ลดลง แต่ผู้บริโภคกลับเริ่มกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการจ้างงาน”
แม้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) คาดว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่ก็ยังไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยเช่นกัน โดยยืนยันหลายครั้งว่าปีนี้คงยังไม่มีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
นอกจากนี้ การลดภาษีเงินได้ในวงกว้างที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ค.ก็ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้บ้าง
ผลสำรวจพบว่าฐานะการเงินของครอบครัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้วดีขึ้น 1.2% ในเดือนก.ย. และคาดการณ์ว่าจะดีขึ้นอีก 0.2% ใน 12 เดือนข้างหน้า
แต่ในทางกลับกัน มุมมองต่อเศรษฐกิจใน 12 เดือนข้างหน้าลดลง 2.6% และลดลง 1.0% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามเริ่มกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในงานมากขึ้น
ความกังวลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ชี้ว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียในไตรมาสเม.ย.-มิ.ย. แทบไม่เติบโต และการเติบโตของทั้งปียังคงอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19
ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนี “ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ในครัวเรือน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจ ยังคงทรงตัวที่ 82.6 ในเดือนก.ย. ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 124.2 อย่างมาก บ่งชี้ว่า การลดภาษียังไม่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้อย่างที่คาดหวัง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 67)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ออสเตรเลีย, อัตราดอกเบี้ย