บริษัทอาลีมองตาซิยง คูช-ตาร์ (Alimentation Couche-Tard) แห่งแคนาดาระบุว่า ยังคงยินดีที่จะเจรจาแบบเป็นความลับกับเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ (Seven & i Holdings) บริษัทญี่ปุ่นเจ้าของร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่เซเว่น อีเลฟเว่น (7-Eleven) เพื่อเดินหน้าควบรวมกิจการ แม้ข้อเสนอซื้อกิจการมูลค่ากว่า 3.85 หมื่นล้านดอลลาร์จะถูกปัดตกไปก่อนหน้านี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นของเซเว่น แอนด์ ไอ ในตลาดหุ้นโตเกียวปิดพุ่งขึ้นกว่า 2.41% ในวันจันทร์ (9 ก.ย.) อยู่ที่ 2,185 เยน (15.26 ดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่าราคาที่คูช-ตาร์เคยเสนอซื้อกิจการแบบเงินสดที่ 14.86 ดอลลาร์ต่อหุ้น ที่ถูกปฏิเสธไปเมื่อวันศุกร์ (6 ก.ย.)
ก่อนหน้านี้ เซเว่น แอนด์ ไอ ได้ให้เหตุผลในการปฏิเสธข้อเสนอว่าไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น และอาจเผชิญอุปสรรคจากกฎหมายต่อต้านการผูกขาดในสหรัฐฯ เนื่องจากการควบรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้เกิดผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาดร้านสะดวกซื้อ
อย่างไรก็ตาม คูช-ตาร์ เจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อเซอร์เคิล-เค (Circle-K) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (8 ก.ย.) ยืนยันว่ายังคงมีความสนใจที่จะซื้อกิจการ และพร้อมที่จะพิจารณาขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อให้ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงเชื่อมั่นว่าข้อเสนอของบริษัทสามารถแก้ไขข้อกังวลด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ในญี่ปุ่นได้
“ด้วยผลประโยชน์ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ เราจึงรู้สึกผิดหวังที่ 7&i ปฏิเสธที่จะเจรจาด้วยดี เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการพูดคุยร่วมกันจะทำให้เราสามารถหาหนทางเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นของ 7&i ได้” คูช-ตาร์ กล่าว
คูช-ตาร์ ยังแสดงความมั่นใจในการระดมทุนสำหรับดีลนี้ ซึ่งจะเป็นการเข้าซื้อกิจการบริษัทญี่ปุ่นโดยต่างชาติครั้งใหญ่ที่สุด และเป็นข้อเสนอซื้อกิจการแบบเงินสดที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์ในปี 2565 ตามข้อมูลของ LSEG
“เราได้รับหนังสือจากที่ปรึกษาทางการเงินของเราระบุว่ามั่นใจอย่างยิ่งว่าสามารถจัดหาเงินทุนสำหรับธุรกรรมที่เสนอได้ ภายใต้เงื่อนไขตามปกติ” คูช-ตาร์กล่าว
ด้านเซเว่น แอนด์ ไอ กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า แม้คูช-ตาร์จะเพิ่มมูลค่าข้อเสนอ “อย่างมีนัยสำคัญ” ทางบริษัทก็ยังคงกังวลว่าการเข้าซื้อกิจการจะดำเนินต่อไปได้หรือไม่
บริษัทอาร์ติซาน พาร์ทเนอร์ส (Artisan Partners) ซึ่งกล่าวเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่าเป็นเจ้าของหุ้นเซเว่น แอนด์ ไอ มากกว่า 1% มองว่าหลังการปฏิเสธข้อเสนอ เซเว่น แอนด์ ไอ มีภาระที่จะต้องแสดงแผนการสร้างการเติบโตในอนาคตให้กับนักลงทุน
“เหตุผลทั้ง 3 ข้อในการปฏิเสธข้อเสนอ ไม่ว่าจะเป็นราคา อุปสรรคด้านกฎระเบียบ และผู้มีส่วนได้เสีย ล้วนสามารถแก้ไขได้ทั้งหมด” เบน เฮอร์ริค ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอร่วมของอาร์ติซาน กล่าว
“ที่สำคัญกว่านั้น เซเว่น แอนด์ ไอ ต้องแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารและคณะกรรมการมีแผนที่จะสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่าที่คูช-ตาร์เสนออย่างไร”
แม้เซเว่น แอนด์ ไอ จะมีขนาดใหญ่กว่าคูช-ตาร์ ในแง่ของยอดขาย จำนวนร้านค้า และพนักงาน แต่ราคาหุ้นกลับทำผลงานได้ไม่ดีนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุน รวมถึงแวลูแอคท์ แคปปิตอล (ValueAct Capital) กังวลเกี่ยวกับการบริหารจัดการและโครงสร้างสินทรัพย์ของบริษัท
“เซเว่น แอนด์ ไอ ถูกประเมินมูลค่าต่ำเกินไปด้วยหลายปัจจัย ทั้งโครงสร้าง เวลา และวัฒนธรรมองค์กร มูลค่าระยะยาวที่แท้จริงของบริษัทสูงกว่านั้นมาก” ไมเคิล คอสตัน ผู้ร่วมก่อตั้งเจแปนคอนซูมิง (JapanConsuming) กล่าว
“คูช-ตาร์ รู้จุดนี้ดี และเลือกจังหวะในการยื่นข้อเสนอที่เหมาะสม แต่การจะซื้อเซเว่น แอนด์ ไอ ในราคาถูกคงไม่ง่าย … เพราะนักลงทุนหลายคนรู้มูลค่าที่แท้จริงของบริษัทดี”
หากการควบรวมกิจการสำเร็จ คูช-ตาร์ ซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ จะสามารถขยายธุรกิจไปทั่วโลก และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานจากการประหยัดต่อขนาด
“จากท่าทีของคูช-ตาร์ พวกเขายังมีโอกาสที่จะยื่นข้อเสนอในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้คณะกรรมการของเซเว่น แอนด์ ไอ ยอมกลับมาเจรจาอีกครั้ง” มาโนช เจน ผู้ก่อตั้งมาโซ แคปปิตอล (Maso Capital) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในเซเว่น แอนด์ ไอ กล่าว
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คูช-ตาร์ อาจพิจารณาเสนอราคาซื้อหุ้นโดยตรงกับผู้ถือหุ้นของเซเว่น แอนด์ ไอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 67)
Tags: 7-ELEVEN, Couche-Tard, ซื้อกิจการ