นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงข้อเสนอจากกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือนายจ้างกรณีขึ้นค่าแรง 400 บาท ในเดือนต.ค.67 ว่า กระทรวงแรงงานได้รับข้อหารือจากผู้ประกอบการ และจากการศึกษาของคณะอนุกรรมการที่กระทรวงแรงงานตั้งขึ้นมา โดยปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศ พร้อมกันวันที่ 1 ต.ค.67 ที่ 400 บาท
“กระทรวงแรงงาน ได้ศึกษาถึงผลกระทบว่าเมื่อประกาศค่าแรงขั้นต่ำ ในสภาวะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ขณะนี้เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงการชะลอตัว โดยมีข้อสรุปว่าการที่จะประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท โดยจะดูในเรื่องของไซส์ L คือ จะใช้เกณฑ์ที่มีสถานประกอบการที่มีแรงงานหรือมีการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า 200 คนขึ้นไป นี่เป็นบทสรุป ซึ่งท่านปลัดจะต้องนำเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไปหารือกับสภาพัฒน์ และกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง” นายพิพัฒน์ กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการประกันสังคม ได้ข้อสรุปเฉพาะของประกันสังคมว่า จะมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่มีแรงงานในบริษัทมากกว่า 200 คนขึ้นไป โดยลดการนำส่งสำหรับนายจ้าง 1% ตั้งแต่เดือนต.ค.67 ถึงเดือนก.ย.68 รวมระยะเวลา 12 เดือน
สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเมื่อมีลูกจ้างต่ำกว่า 200 คน เราจะไม่ไปกระทบ แต่จะต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ SMEs ซึ่งถือครองผู้ใช้แรงงานมากกว่า 90% ให้ยืนต่อไปได้ จนกว่าเราจะมีภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไปกว่านี้ มั่นใจว่าการที่มีรัฐบาลใหม่ โดยมีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะสามารถพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยไปได้
นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงแรงงานจะเสนอให้กระทรวงการคลัง ไปพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในช่วงปี 55 สมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาท/วัน ว่ามีมาตรการใดบ้าง ซึ่งจะนำมาปฏิบัติอีกครั้ง
“จะนำเสนอว่าจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเอาส่วนที่เกิน ก่อนหักภาษี 1.5 เท่า มาเป็นค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษี เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการบรรเทาเรื่องการชำระภาษี ส่วนมาตรการอื่น ๆ คงจะต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา และประกาศออกมาอีกครั้งหนึ่ง” นายพิพัฒน์ กล่าว
ส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการนั้น กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมพร้อมให้การสนับสนุนเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะผ่านทางสถาบันการเงินของรัฐ นำมาปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าไร ต้องขอหารือกันอีกครั้ง
“ได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพิจารณาใส่เงินก้อนหนึ่งเข้าไป ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานเราไม่สามารถที่จะให้ผู้ประกอบการกู้ยืมทางตรงได้ แต่เราจะประสานงานกับสถาบันการเงิน และให้สถาบันการเงินเป็นผู้ให้กู้อีกชั้นหนึ่ง” รมว.แรงงาน ระบุ
นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า มาตรการลดภาษีในกรณีที่มีการฝึกอบรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งในปี 2567 มีการอบรมสัมมนาผ่านสถานประกอบการใกล้เคียง 4 ล้านตำแหน่งนั้น จะเป็นมาตรการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากสถานประกอบการ โดบให้สามารถนำมาหักภาษี หรือลดหย่อนภาษีได้
พร้อมกันนี้ ได้เข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน เพราะเมื่อมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปที่ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.67 เป็นต้นไป สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ราคาสินค้าก็จะทยอยปรับตัวขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ โดยขอใช้โครงการธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำสินค้าต่าง ๆ ออกขายในแต่ละจังหวัด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุน
“ทั้งหมดนี้ เป็นข้อเสนอที่มองว่าจะสามารถช่วยทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน จึงจะเสนอมาตรการเหล่านี้ให้หน่วยงานทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ ให้พิจารณา” รมว.แรงงาน กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ย. 67)
Tags: ขึ้นค่าแรง, ค่าแรง, ค่าแรงขั้นต่ำ, พิพัฒน์ รัชกิจประการ