ข่าวปลอม “กรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok” โจรไซเบอร์ลวงดูดเงิน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “กรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok” รองลงมาคือเรื่อง “ลงทะเบียนทำใบขับขี่ออนไลน์ ไม่ต้องไปขนส่ง ผ่านเพจเฟซบุ๊กทำใบขับขี่ออนไลน์ จาก DLT” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความเสียหายให้กับข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สิน หากส่งต่ออาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

โดยผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระหว่างวันที่ 23-29 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 844,159 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 295 ข้อความ ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 283 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 12 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 214 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 123 เรื่อง

ข่าวปลอม 10 อันดับแรกที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง กรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok

อันดับที่ 2 : เรื่อง ลงทะเบียนทำใบขับขี่ออนไลน์ ไม่ต้องไปขนส่ง ผ่านเพจเฟซบุ๊กทำใบขับขี่ออนไลน์ จาก DLT

อันดับที่ 3 : เรื่อง ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่ออาชีพอิสระ ดอกเบี้ย 1% ผ่อนนาน 8 ปี

อันดับที่ 4 : เรื่อง ปปง.เปิดให้ผู้เสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ลงทะเบียนรับทรัพย์สินคืน ผ่านเพจ Public assistance center

อันดับที่ 5 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กกรมการปกครอง เปิดรับแจ้งความออนไลน์

อันดับที่ 6 : เรื่อง ธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้ถูกกฎหมาย 300,000 บาท ผ่านเพจสินเชื่อ ออมสิน

อันดับที่ 7 : เรื่อง ลงทุนเปิดพอร์ตระยะสั้นผ่านไลน์โดย ก.ล.ต.

อันดับที่ 8 : เรื่อง กรุงไทยปล่อยสินเชื่อรวบหนี้ สำหรับผู้มีรายได้ 9,000 บาทขึ้นไป วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อคน

อันดับที่ 9 : เรื่อง เพจ Power of Energy แนะนำการลงทุนเทรดทองคำ โดยมีการรับรองจาก ก.ล.ต.

อันดับที่ 10 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก รับแจ้งเรื่องคดีออนไลน์ต่างๆและลงทะเบียนยืนรับทรัพย์สินคืน

ทั้งนี้พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวการทำธุรกรรมที่มีการแอบอ้างถึงหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอันดับ 1 ที่แอบอ้างว่า “กรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok” นั้น กระทรวงฯ ได้ประสานกับธนาคารกรุงไทยเพื่อตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้วพบว่าเป็นข้อมูลปลอม โดยมีการปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok @ktbbank.11, @461yswho01, @krungafewr7และ @krungpfl7ot ซึ่งธนาคารกรุงไทยไม่มีการปล่อยสินเชื่อใด ๆ ผ่านบัญชี TikTok ทั้ง 4 บัญชี และทั้ง 4 บัญชีนั้นก็ไม่ใช่บัญชี TikTok ของธนาคารกรุงไทย ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนควรระมัดระวังในการกรอกข้อมูลและไม่ควรกดลิงก์ที่น่าสงสัย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top