นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่าถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ว่า หากรัฐบาลชุดใหม่จะไม่ดำเนินการต่อ ก็อาจต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาทดแทน เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคงต้องมาหารือร่วมกันก่อนว่านายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร โดยต้องหารือกันในระดับนโยบายก่อน รวมทั้งฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย
“คิดว่าคงต้องมีมาตรการออกมาสักอย่าง เพื่อช่วยประชาชนในช่วงนี้…ส่วนจะเป็นมาตรการอย่างไรนั้น คงต้องดูจากทรัพยากรที่มี ดูเครื่องมือที่มี และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ว่าจะใช้มาตรการไหนให้เกิดการทำงานได้เร็วขึ้น” นายดนุชา ระบุ
ส่วนมาตรการดังกล่าว ควรจะทำควบคู่ไปพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยหรือไม่นั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องพิจารณาช่วงเวลา และปริมาณที่เหมาะสม ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ซึ่งเชื่อว่าทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงต้องมาหารือร่วมกันว่าจะต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในช่วงเวลาใด และอย่างไร
แนะเตรียมวงเงินในงบปี 68 รองรับผลกระทบความผันผวนเศรษฐกิจโลก
ส่วนที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงต้องรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนที่จะมีความชัดเจนเรื่องการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ ซึ่งการลงทุนของภาครัฐในช่วงถัดจากนี้ไป จะถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อจากนี้ ดังนั้นคงต้องมาพิจารณาอีกที ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจควรต้องดำเนินการในลักษณะใด
“เรื่องการรับฟังความคิดเห็น เชื่อว่าทั้งรัฐบาลที่ผ่านมา และรัฐบาลนี้จะได้ทำอย่างรอบด้าน ต้องดูว่า สุดท้ายแล้ว จะมีมาตรการอะไรออกมา ตอนนี้ยังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะรัฐบาลใหม่ก็ยังไม่ได้แถลงนโยบาย…เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะทำ หรือไม่ทำ แต่งบประมาณก็มีการเตรียมการไว้ตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้า ดังนั้น ก็ต้องมาดูว่ารัฐบาลของนายกฯ แพทองธาร จะมีนโยบายอย่างไร คงต้องพูดคุยกันในรายละเอียด” นายดนุชา กล่าว
พร้อมเห็นว่า ในงบประมาณรายจ่ายปี 68 ควรต้องมีงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย จากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
“ความขัดแย้งในภูมิภาคที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งสงครามการค้าที่น่าจะรุนแรงมากขึ้นนั้น แน่นอนว่า เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบแน่ เพราะฉะนั้น ในงบประมาณปี 68 ต้องมาดูว่าจะมีวงเงินอะไรเพื่อใช้เตรียมรองรับในส่วนนี้ คงต้องหารือกับนายกฯ และครม.ก่อน ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างฟอร์มทีมรัฐบาล เมื่อได้รัฐบาลแล้ว ต้องมาคุยกันว่าในเรื่องนี้ เราจะเตรียมมาตรการอย่างไรบ้างเพื่อรองรับ” นายดนุชา กล่าว
มาตรการแก้หนี้ ควรทำแบบพุ่งเป้ามากขึ้น
ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงนั้น นายดนุชา กล่าวว่า เรื่องนี้ ธปท. กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ได้มีการหารือกันมาระดับหนึ่งแล้ว และเห็นว่ามาตรการที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ ควรเป็นมาตรการที่พุ่งเป้ามากขึ้น เช่น แก้ปัญหาหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หรือหนี้บัตรเครดิต รวมทั้งต้องดูทรัพยากรที่จะนำมาใช้ด้วย โดยเชื่อว่าอีกไม่นาน น่าจะได้เห็นมาตรการออกมา
“เราคุยกันมาระดับหนึ่งแล้ว เห็นว่ามาตรการที่จะแก้ไขเรื่องหนี้ จะต้องพุ่งเป้ามากขึ้น และต้องดูทรัพยากรที่จะเอามาใช้ด้วย ขอให้คุยกันให้ชัดเจนก่อน คงไม่นาน น่าจะมีมาตรการออกมา” นายดนุชา ระบุ
ทั้งนี้ เลขาธิการสภาพัฒน์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยกล่าวเพียงว่า ให้เป็นหน้าที่ของ ธปท. โดยจะไม่ขอก้าวล่วง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ ธปท.เป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่ทรงตัวในระดับสูง ก็อยู่ที่ ธปท. จะมองว่าอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 67)
Tags: ดนุชา พิชยนันท์, สภาพัฒน์, เศรษฐกิจไทย