นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 ว่า จากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่และการจัดกิจกรรมต่างๆ ตามสถานที่รอบเส้นทางรถไฟฟ้า รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางครอบคลุมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ส่งผลบวกให้รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ BEM มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/67 จำนวน 1,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 102 ล้านบาท คิดเป็น 11% จึงคาดว่าปีนี้กำไรบริษัททะลุเป้า 3,600 ล้านบาท
รายได้จากธุรกิจหลัก 4,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116 ล้านบาท หรือ 3% ประกอบด้วย รายได้จากธุรกิจทางพิเศษ 2,114 ล้านบาท (ลดลง 1% YoY) รายได้จากธุรกิจระบบรางหรือรถไฟฟ้า MRT จำนวน 1,603 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7% YoY) ในส่วนของธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ มีรายได้ 306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% ขณะที่ต้นทุนการให้บริการรวมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 2,635 ล้านบาท ลดลง 19 ล้านบาท หรือร 0.7% ในส่วนของต้นทุนทางการเงิน 590 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23 ล้านบาท หรือ 4%
ปริมาณรถที่ใช้ทางพิเศษในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.10 ล้านเที่ยวต่อวัน ใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินเฉลี่ยทุกประเภทวันอยู่ที่ 393,000 เที่ยวต่อวัน และในวันทำการเฉลี่ยอยู่ที่ 463,000 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 12% ของทั้งสองประเภทวัน ในขณะที่รายได้รับจ้างเดินรถโครงการสายสีม่วงใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สำหรับงวดครึ่งปีแรก บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 1,850 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 200 ล้านบาท หรือ 12% สาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น ในส่วนของต้นทุนการให้บริการรวมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานแล้วเมื่อ 31 กรกฎาคม 2567 โดยแผนกำหนดแล้วเสร็จสำหรับส่วนตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในการให้บริการเดินรถภายใน 3 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ BEM มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการในส่วนนี้ได้ก่อนกำหนดแน่นอน
และส่วนตะวันตกจากบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี ซึ่งการได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ จะเป็น New S-Curve ช่วยเสริมให้ธุรกิจของ BEM เติบโตได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน รวมทั้งช่วยหนุนปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ส.ค. 67)
Tags: BEM, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, สมบัติ กิจจาลักษณ์, หุ้นไทย