เงินบาทเปิด 31.23/29 แนวโน้มอ่อนค่า กังวลวัคซีนโควิดล่าช้า-การเมืองในปท.

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.23/29 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากปิดตลาดเมื่อเย็นวันจันทร์ที่ระดับ 31.21 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าภูมิภาคหลังเริ่มมี Flow ไหลกลับเข้ามาใน และ Safe Haven เข้าพักในสินทรัพย์ปลอดภัย หลังบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประกาศระงับการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 หลังพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการทดลองรายหนึ่งล้มป่วย

สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศ มองว่าคงไม่ส่งผลกระทบมาก แต่ต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ หากยืดเยื้ออาจจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 31.15-31.35 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (12 ต.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.27308% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.31575%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ 105.10/105.60 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันจันทร์ที่ระดับ 105.51 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.720/1.1755 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันจันทร์ที่ระดับ 1.1800 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.0860 บาท/ดอลลาร์
  • 3 กรมจัดเก็บภาษี เตรียมหารือกระทรวงการคลัง เพื่อปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บภาษีประจำปีงบประมาณ 64 ที่เดิมตั้งเป้าไว้เกือบ 10 ล้านล้านบาท หลังจากเศรษฐกิจทรุดจากการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการใช้มาตรการลดภาษีช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ
  • ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์บัตรสมาชิกไทยแลนด์ อีลิทการ์ด ไปผูกกับการซื้อและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักลงทุนซื้อบัตรมากขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือธุรกิจอสังหาฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจโลกตกต่ำ โดยหลังจากนี้ ททท.จะเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุม ศบศ. พิจารณาเร็ว ๆ นี้
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ในวันนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง 7.1% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะหดตัวลง 7.7% ขณะที่ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.4% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ที่ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.9%
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ดีดตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ประกาศระงับการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 หลังพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการทดลองรายหนึ่งล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,900 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (13 ต.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐ
  • นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ หลังจากมีรายงานว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้ปฏิเสธข้อเสนอวงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ของทำเนียบขาว โดยระบุว่า วงเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19
  • บรรดานักลงทุนในตลาดการเงินจับตาประธานาธิบดีจีน ซึ่งจะกล่าวสุนทรพจน์ในระหว่างการเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีแห่งการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (SEZ) ในวันนี้
  • ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนก.ย., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State ManufacturingIndex) เดือนต.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, ดัชนีการผลิตเดือนต.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ยอดค้าปลีกเดือนก.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนส.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top